ฮีทสโตรกในสัตว์เลี้ยง ความเสี่ยงที่มองข้ามไม่ได้

หน้าร้อนเดือนเมษายนซึ่งค่าดัชนีความร้อนสูงถึงระดับอันตรายในหลายพื้นที่ เมื่อมนุษย์อย่างเราๆ รู้สึกร้อน หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเป็นลมแดด คงไม่แปลกที่สัตว์และสัตว์เลี้ยงจะรู้สึกร้อนตามไปด้วย และโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรกในสัตว์เลี้ยงก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัว 

จากการสำรวจโดยบริษัทเอกชน ในปี 2567 พบว่า แนวโน้มการเลี้ยงสัตว์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะช่วงหลังวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 และแนวคิดการเลี้ยงสัตว์ เช่น สุนัข แมว กระต่าย หนูแฮมสเตอร์ ฯลฯ หมือนสมาชิกในครอบครัวก็เริ่มเป็นที่เห็นได้ในวงกว้าง

รายการ ‘PSU I SEE พูดคุยกับ ดร.น.สพ. กฤตธี เดชยง รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชวนรู้จักสภาวะฮีทสโตรกในสัตว์ เพื่อรู้เท่าทันและพร้อมรับมือกับหน้าร้อนนี้ร่วมกับเพื่อนร่วมโลกของเรา

กลไกระบายความร้อนของสัตว์

ดร.น.สพ.กฤตธีอธิบายว่า ฮีทสโตรกคือสภาวะที่ร่างกายมีความร้อนภายในสูงเกินไป ร่างกายรับความร้อนและไม่สามารถระบายความร้อนออกไปได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในทั้ง สภาพร่างกาย สรีระ รวมถึงสภาพอากาศ อุณหภูมิ การระบายลม และความชิ้นในอากาศ

ความแตกต่างสำคัญของกลไกระบายความร้อนในสัตว์ เช่น สุนัข แมว กับมนุษย์ คือ สัตว์ใช้ระบบหายใจเป็นกลไกระบายความร้อนเป็นหลัก และมีบางส่วนที่มีต่อมเหงื่อตามผิวหนังเพื่อระบายความร้อน เช่น บริเวณอุ้งเท้า แต่การระบายความร้อนผ่านต่อมเหงื่อจะระบายได้ไม่ดีเท่ากับการหายใจ ซึ่งต่างจากมนุษย์ซึ่งมีทั้งต่อมเหงื่อของระบบผิวหนังและการหายใจเป็นกลไกสำคัญ 

ดร.กฤตธีอธิบายว่า เมื่ออุณหภูมิในร่างกายสัตว์สูงขึ้นจะส่งผลต่ออุณหภูมิในเลือดเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน เปรียบเป็น ‘เลือดเดือด’ เมื่อเลือดที่มีอุณหภูมิสูงไหลเวียนไปยังอวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกายจะส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะส่วนนั้น เช่น ไต ตับ หรือ ปอด ซึ่งจะทำให้หมดสติและอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

ปัจจัยทางร่างกายต่อฮีทสโตรก

“โดยทั่วไป เรามักเห็นสุนัขมีขนสั้น ขนยาว แต่ขนไม่ใช่ปัจจัยที่มีผล (ต่อการระบายความร้อน) มากน้อย ขนสั้นอาจจะเสี่ยงฮีทสโตรกน้อยกว่าขนยาวเล็กน้อย แต่โดยรวมไม่ได้แตกต่างกันมากเพราะสุนัขไม่มีต่อมเหงื่อมาก” ดร.กฤตธีอธิบายถึงความเข้าใจทั่วไปที่มีต่อความยาวขนสัตว์ 

อย่างไรก็ตาม ตัวแปรที่สำคัญต่อการระบายความร้อนในร่างกายคือ ‘ปาก’ ซึ่งส่งผลต่อระบบหายใจ – “สุนัขพันธุ์หน้าสั้น เช่น บูลด็อก ชิวาวา หรือแมวเปอร์เซีย โครงสร้างทางเดินหายใจของเขาจะระบายอากาศได้ค่อนข้างลำบาก”

สังเกตพฤติกรรมสัตว์เบื้องต้น 

เมื่อเราเห็นหมาแมว ใกล้ตัวเริ่มหายใจถี่ หอบ กินน้ำมากกว่าปกติ เหล่านี้อาจเป็นอาการเริ่มแรกซึ่งสามารถปรับสภาพแวดล้อมให้ถ่ายเทอากาศดีขึ้น หรือ ลดอุณหภูมิ และต้องงดหรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงเวลาอากาศร้อน

เมื่อสัตว์ไม่มีต่อมเหงื่อมากเท่ากับมนุษย์ วิธีการเช็ดตัวอาจช่วยได้เล็กน้อย ดร.กฤตธีแนะนำว่าการเช็ดตัวควรทำบริเวณที่มีต่อมเหงื่อ เช่น อุ้งเท้า หรือ บริเวณหน้าท้องที่ไม่มีขน และควรใช้น้ำอุณหภูมิปกติ และควรให้ดื่มน้ำมาก

ส่วนในสัตว์เลี้ยงที่ขนาดเล็ก และอาจสังเกตอาการได้ไม่ชัดเจนเท่าสัตว์เลี้ยงขนาดใหญ่นั้น ดร.กฤตธีแนะนำว่าในขั้นต้นควรเริ่มจากสังเกตพฤติกรรมของตัวเราเองก่อน ว่ารู้สึกร้อนหรือไม่ เพราะสัตว์ที่มีการระบายความร้อนและขยับปรับเปลี่ยนสถานที่ได้ด้วยข้อจำกัดมากกว่าเจ้าของ ก็จะยิ่งสังเกตพฤติกรรมยากขึ้น

“ถ้าเราร้อน สัตว์ก็ร้อน เราสังเกตตัวเราเองก่อนได้เลย” ดร.กฤตธีกล่าว

ดร.น.สพ. กฤตธี เดชยง

อ่านต่อ

รู้จัก ‘ดัชนีความร้อน’ เหตุผลรู้สึกร้อนเกินกว่าอุณหภูมิอากาศที่วัดได้

รู้กฎหมายง่ายนิดเดียว – กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมและป้องกันโรคระบาดในสัตว์

Animal Welfare : หลักสวัสดิภาพสัตว์ในประเทศไทย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *