คุณคมกริช ชนะศรี
ประธานสภาพนักงานมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
“โดยส่วนตัวมีความรู้สึกว่าสายสนับสนุนในมหาวิทยาลัยอ่อนแอลง เนื่องจากการไหลออกของบุคลากรซึ่งมีประสบการณ์การทำงาน ซึ่งยังพอใจในความเป็นข้าราชการที่มีความมั่นคงมากกว่า มหาวิทยาลัยจึงต้องสร้างความมั่นใจเรื่องสวัสดิการต่างๆ ได้ และต้องวิเคราะห์ความต้องการของคนรุ่นใหม่”
คุณคมกริช ชนะศรี ประธานสภาพนักงานมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และดำรงตำแหน่งประธานที่ประชุมสภาข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้าง มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย หรือ ปขมท. ได้กล่าวถึงการทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้ปฏิบัติงานสายสนับสนุนในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งนอกจากจะคอยดูแลให้บุคลากรสายสนับสนุนได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สนับสนุนมหาวิทยาลัยให้บรรลุเป้าหมายตามภารกิจที่ได้วางไว้แล้ว ยังเป็นตัวแทนส่งผ่านความคิดเห็นของพนักงานมหาวิทยาลัยสู่การรับรู้ของผู้บริหารในหลายช่องทาง เช่นในฐานะกรรมการในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย และอื่นๆ
“เพียงแต่ว่าการนำเสนอและข้อสะท้อนความคิดเห็นของเรา จะสอดคล้องกับทิศทางการบริหารของผู้บริหารมหาวิทยาลัยหรือไม่เท่านั้น และต้องคำนึงถึงความพร้อมเช่นเรื่องความเหมาะสมของช่วงเวลาและเรื่องงบประมาณเป็นต้น แต่ยังมีช่องทางนอกรูปแบบอื่นๆ เพราะผู้บริหารมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เปิดกว้างเรื่องการรับฟังความคิดเห็นและปัญหา ซึ่งเป็นโชคดีของการทำงานในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ไม่เคยมีปัญหาขัดแย้งระหว่างสภาพนักงานและผู้บริหาร มีการรับฟังความคิดเห็นและบางครั้งพบกันครึ่งทางเนื่องจากบางครั้งมหาวิทยาลัยก็มีข้อจำกัดเรื่องการบริหารจัดการ” ประธานสภาพนักงานมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าว
นอกจากนั้น การทำงานในช่วงการเปลี่ยนผ่านเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ ยังดูเหมือนจะมีข้อจำกัดมากกว่าเดิมซึ่งเป็นข้อกำหนดจากส่วนกลางไม่ใช่มหาวิทยาลัย เช่นในเรื่องงบประมาณและระเบียบพัสดุ แต่อย่างไรก็ตามหากมีความตั้งใจทำงานเพื่อประโยชน์ของสถาบันและประเทศชาติแล้ว ระเบียบข้อบังคับต่างๆ ก็ไม่ใช่จะเป็นอุปสรรคเสมอไปและต้องทำงานภายใต้ข้อจำกัดที่มีให้ดีที่สุด
แม้จะมีข้อจำกัดในการทำงาน แต่การทำงานในฐานะประธานสภาพนักงานมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มา 3 วาระก็มีโอกาสสร้างผลงานที่ภูมิใจหลายเรื่อง เช่น ผลักดันให้มีทั้งสภาอาจารย์ และ สภาพนักงาน ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำให้เรามั่นใจว่าจะมีผู้มาดูแลสายสนับสนุนอย่างจริงจัง ได้ช่วยมหาวิทยาลัยในการพัฒนาบุคลากรสายสนับสนุน โดยการจัดอบรมเรื่องความก้าวหน้าของสายสนับสนุน การจัดทำคู่มือ การทำงานวิจัยให้เป็น และหลายคนที่เข้าอบรมก็มีโอกาสก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น และให้มีกรรมการสภาพนักงานในแต่ละวิทยาเขต เนื่องจากแต่ละวิทยาเขตมีความต่างกันในบางเรื่อง
ส่วนในฐานะประธานที่ประชุมสภาข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้าง มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย หรือ ปขมท. ก็ได้สร้างมีการสร้างเครือข่ายให้บุคลากรสายสนับสนุนที่ทำงานด้านเดียวกันได้มีโอกาสพบปะพูดคุย มีการเสวนาทางวิชาการ เพื่อความรู้ที่ทันยุคสมัย อันจะส่งผลให้สถาบันอุดมศึกษามีความเข้มแข็งขึ้น เช่น เครือข่ายบริหารงานบุคคล เครือข่ายนิติกร เครือข่ายนักวิจัย การมีวารสารวิชาการ ปขมท. เป็นการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยและผลงานวิชาการของสายสนับสนุนในมหาวิทยาลัย เพื่อนำไปอ้างอิงในการเข้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น และมีการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัล ปขมท.ดีเด่นระดับชาติ คัดเลือกสายสนับสนุนที่มีผลงานดีเด่น ด้านวิชาชีพ ด้านนวัตกรรม ด้านบริการ และลูกจ้างผู้มีผลงานดีเด่น
แต่อย่างไรก็ตาม คุณคมกริชบอกว่า “ในอดีตมหาวิทยาลัยทั่วประเทศจะไม่ต่างกันมากนักทั้งในด้านค่าตอบแทน สวัสดิการ สิทธิประโยชน์ของบุคลากร แต่ทุกวันนี้ปัญหาของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน ปัญหาของสถาบันหนึ่งกลับไม่ใช่ปัญหาของอีกสถาบันหนึ่ง การจัดการต่างกัน ไม่มีความสุขความทุกข์ร่วมกัน ทำให้การรวมกลุ่มกันลำบาก มหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมมากก็มีการจัดระเบียบสวัสดิการ ค่าตอบแทนที่เอื้อประโยชน์ต่อบุคลากรได้มากกว่าที่อื่น ทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบถึงความแตกต่างซึ่งเป็นปัญหาที่พบอยู่ในขณะนี้”