ผู้ช่วยศาสตราจารย์
ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ
“หน้าที่การบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ไม่ใช่การให้ตลอดไป แต่เป็นเพียงการให้ในเบื้องต้น และหลังจากนั้นต้องสร้างประชาชนให้สามารถทำมาหากิน หรือแนะนำการเพิ่มมูลค่าผลผลิตที่มีอยู่ให้มากขึ้น”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงภารกิจด้านบริการวิชาการของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีความสำคัญเช่นเดียวกับการผลิตบัณฑิต การวิจัย และการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม โดยมหาวิทยาลัยได้มีการเพิ่มคุณภาพของการบริการวิชาการ และพัฒนารูปแบบการขับเคลื่อน และมีความเข้าใจท้องถิ่นมากขึ้นเพื่อให้ง่ายต่อการให้บริการ โดยมีการเน้นแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ซึ่งแต่ละพื้นที่ตั้งของแต่ละวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยมีปัญหาแตกต่างกันไป ทำให้การบริการวิชาการมีหัวข้อเรื่องและมีจุดเด่นที่ต่างกัน แต่อย่างไรก็ตามมีหลายเรื่องที่มีการใช้ศักยภาพทางวิชาการของต่างวิทยาเขตมาร่วมกันแก้ปัญหา
แต่เดิมการบริการวิชาการคือการนำคณาจารย์และนักศึกษาลงพื้นที่เพื่อพัฒนาให้ชุมชนสังคมและประเทศชาติได้รับประโยชน์ แต่ปัจจุบันได้มีการเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงวิธีการขับเคลื่อน โดยได้มีการแบ่งการบริการวิชาการออกเป็น 4 ส่วน คือ การบริการวิชาการทั่วไปที่เป็นการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ทางวิชาการหรือวิชาชีพ การเป็นที่ปรึกษาให้แก่ผู้ประกอบการในลักษณะการว่าจ้าง การนำงานวิจัยออกไปรับใช้สังคม และงานบริการวิชาการที่เกิดผลกระทบสูงต่อสังคมเป็นที่ประจักษ์ เช่น การเข้าร่วมแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และ การแปรรูปยางเพื่อเพิ่มราคาผลผลิตเมื่อราคายางตกต่ำ เป็นต้น ซึ่งการแบ่งเช่นนี้ ทำให้คณาจารย์สามารถเลือกให้บริการตามรูปแบบที่ตนถนัด
ข้อสำคัญคือการที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้เข้าไปคลุกคลีอยู่ในพื้นที่ภาคใต้มาเป็นเวลานานและอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชุมชน องค์กรธุรกิจและส่วนราชการอื่นมีความความไว้วางใจซึ่งจะเอื้อต่อความสะดวกในการประสานงาน นอกจากนั้นเรายังมีการทำภารกิจการบริการวิชาการในพื้นที่ภูมิภาคอื่นๆ โดยร่วมกับผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ และร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับสถาบันการศึกษาประเทศเพื่อนบ้านในเครือข่าย IMT-GT อีกด้วย
การทำงานบริการวิชาการที่จะประสบความสำเร็จในปัจจุบันต่อเนื่องไปถึงอนาคต ต้องมีการเปลี่ยนทัศนคติบางเรื่องในการลงพื้นที่ให้เป็นบวกมากขึ้น ต้องมีการบูรณาการข้ามศาสตร์กันโดยอาศัยความร่วมมือกันของทุกคณะและทุกวิทยาเขตของมหาวิทยาลัย เพื่อเกิดผลกระทบที่ดีต่อสังคม เช่นกรณีการเกิดปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกันทั้งคณะทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านสังคมศาสตร์ รวมถึงบุคลากรในภาคส่วนต่างๆ