ฟังดนตรีคลาสสิกพัฒนา I.Q., E.Q.และสมาธิ

ดนตรีคลาสสิกเป็นเพลงไพเราะอันทรงคุณค่า เป็นดนตรีที่มีแบบฟอร์มสลับซับซ้อน มีทั้งเพลงประเภทเต้นรำ เพลงรักเพลงบรรยายถึงธรรมชาติ มีลักษณะบรรยากาศที่ช้าและเร็วสลับกันไป เป็นดนตรีที่เกิดขึ้นจากในวัดในโบสถ์จนกลายมาเป็นเพลงชาวบ้านมีกระบวนเพลงด้วยกันหลายกระบวนเร็ว-ช้า-เร็ว สลับกันไป เป็นเพลงที่มีศักยภาพสูงมากในการสื่อสารทางอารมณ์และสติปัญญาอย่างเข้มข้นและลึกซึ้ง มีความวิเศษและเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์มาก เพราะได้รับการยกย่องกันว่าเป็นเพลงคลาสสิกของทุกวัฒนธรรมสามารถตอบสนองการรับฟังของมนุษย์เราได้ในทุกระดับ

classic ในที่นี้แปลว่า อมตะ ไม่ตายง่ายๆ บางบทบางประเภทก็ประเทืองปัญญา บางบทบางประเภทก็ประเทืองอารมณ์อันลึกซึ้งละเอียดอ่อน บางบทบางประเภทก็มีพลังลึกล้ำที่สามารถปลดปล่อยความรู้สึกและอารมณ์ที่ขึ้นๆลงๆตามประสามนุษย์ของเราได้ดียิ่งกว่าเพลงประเภทอื่นใด สรุปคืออยู่มาได้นานและจะอยู่ต่อไปได้อีกนานๆ เพราะเป็นดนตรีที่เข้มข้นสุดฤทธิ์สุดเดชในหลากหลายทางยิ่งกว่าเพลงประเภทใดๆ

ดนตรีคลาสสิกกับการพัฒนาไอคิว(I.Q.)

โมสาร์ท เอฟเฟค (The Mozart  Effects ) เป็นเรื่องกำเนิดมาจากการวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาสติปัญญาเด็กด้วยการให้เด็กฟังเพลงคลาสสิก  ได้เริ่มต้นจากข้อสมมติฐานที่เชื่อว่าเด็กจะโตขึ้นและมีสติปัญญาฉลาดเฉลียว ถ้าได้ให้ฟังเพลงคลาสสิก

มีการวิจัยเกี่ยวกับ The Mozart  Effect  : เพลงคลาสสิคทางเลือกใหม่ของการพัฒนาศักยภาพสมองให้เกิดการเพิ่มพูนความทรงจำและความเฉลียวฉลาด หลายปีที่ผ่านมา  ได้มีการทดลองซึ่งได้แสดงให้ทราบว่าการฟังดนตรีคลาสสิคจะทำให้สามารถเพิ่มพูนความทรงจำ  สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เรียกกันว่าThe Mozart Effect   เพราะว่าเพลงที่คัดเลือกมาใช้มาใช้ในการเพิ่มพูนความจำนั้นเป็นเพลงของ Wolfgang Amadeus Mozart  ประชาชนที่ได้อ่านรายงานเกี่ยวกับการทดลองนี้จากวารสารและหนังสือพิมพ์ชื่อดังต่าง ๆ ก็สนใจที่จะฟังเพลงคลาสสิคเพราะว่ามันน่าจะเป็นวิถีทางที่ดีที่จะเพิ่มพูนความจำและเพิ่มความเฉลียวฉลาดทางปัญญา

ดนตรีโมสาร์ท  ต่อมาได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการพัฒนาศักยภาพสมองในเด็กทารก โดยเชื่อว่าถ้าทารกคนไหนได้ฟังเพลงโมสาร์ท เป็นประจำ ทารกคนนั้นโตขึ้นจะมีสมองดี นอกจากนี้ความรู้ดังกล่าวยังได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางเพิ่มขึ้นเพราะต่อมาไม่นาน รัฐจอร์เจีย ซึ่งเป็นรัฐๆ หนึ่งของสหรัฐ ก็ได้ออกกฎบังคับให้เด็กเกิดใหม่ทุกคน ต้องได้รับการแจกแผ่นดิสก์เพลงโมสาร์ท  ตามด้วยรัฐฟลอริดา ที่ได้บังคับให้เด็กนักเรียนทุกคนต้องฟังเพลงดนตรีคลาสสิกทุกวันที่ไปโรงเรียน

อาจกล่าวได้ว่า ทุกวันนี้อุตสาหกรรมที่หากินกับผลวิจัย The Mozart effects กำลังเจริญรุ่งเรืองมาก รวมทั้งการทำการวิจัยเพื่อขยายผลการวิจัยชิ้นนี้ ซึ่งล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ได้พบว่า เด็กชั้นประถมปีที่ 2 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในนครลอสแองเจลิส หลังเริ่มเรียนเปียโนนาน 4 เดือน มีผลการเรียนวิชาเลขคณิต ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนถึง 27 เปอร์เซ็นต์

ดนตรีคลาสสิกกลุ่มพัฒนาอารมณ์กับการพัฒนาอีคิว(E.Q.)

ดนตรีคลาสสิกบางเพลงเมื่อฟังแล้วคลื่นเสียงของเพลงมีอิทธิพลกระตุ้นต่ออารมณ์และจิต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นดนตรีคลาสสิกที่บรรเลงด้วยเครื่องเป่า เครื่องสาย บางบทเพลงทำให้จิตใจเกิดความรู้สึกสะเทือนใจอ่อนไหวเศร้าสร้อยไปกับเสียงเพลงเช่น Piano Sonata No 8 “Pathetique” ของ Beethoven หรือ Nocturne in E flat Major ของ  Chopin  บางบทเพลงทำให้เกิดความรู้สึกอารมณ์สดชื่นแจ่มใสกระปรี้กระเปล่า Spring from  The four season  ของ vivaldi  บางบทเพลงทำให้เกิดความรู้สึกอยากจะเต้นรำหมุนไปรอบ ๆ ตามจังหวะเสียงเพลง เช่น บทเพลง The Blue Danube Waltz ของ Strauss เป็นต้น  ซึ่งเชื่อว่าดนตรีกลุ่มนี้จะเข้าพัฒนาสมองส่วนระบบลิมบิก ทำให้มีการพัฒนาสมองส่วนอารมณ์ให้มีความละเอียดอ่อนมากขึ้น  ซี่งอาจารย์อริยะ ได้มีการจัดชุดดนตรีกลุ่มนี้ไว้เป็นชุด ๆ ที่เรียกว่าดนตรีพัฒนาอารมณ์

ดนตรีคลาสสิกกับการพัฒนาสมาธิ

ดนตรีคลาสสิกพัฒนาสมาธิมีการกระตุ้นสมองทำให้สมองเกิดคลื่นอัลฟ่าและพัฒนาสมาธิได้ดีเป็นพิเศษ ตัวอย่างสุดยอดเพลงคลาสสิกของคีตกวี เพื่อพัฒนาคลื่นสมองอัลฟ่า โดยอาจารย์อริยะ สุพรรณเภษัช ที่ท่านควรจะหามาฟัง เช่น Bach ได้แก่เพลง  Ave Maria และ Jesu ,Joy of Man’s Desiring  , Mozart ได้แก่   Eine Kleine Nauchtmusik: Romance Adante และ March of the Priests from The Magic Flute  เพลงหลังนี้เยี่ยมมากทำสมาธิได้เลย  ส่วนคีตกวีอีกคนหนึ่ง ชื่อ Massnet บางคนอาจไม่รู้จักแต่เพลงของท่านสุดยอดมาก ได้แก่  Meditation from Thais

ฟังดนตรีคลาสสิค มีดีอะไรบ้าง?

  • กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์
  • บรรเทาความเจ็บป่วยของผู้ป่วยทางสมอง
  • เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
  • ให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่าในช่วงเช้าของวัน
  • ทำให้สุขภาพดีขึ้น อารมณ์และกล้ามเนื้อผ่อนคลาย ระบบการหายใจ จังหวะหัวใจ และคลื่นสมองทำงานประสานกันได้อย่างดี
  • เป็นสาระบันเทิง (Edutainment) ที่มีประโยชน์
  • ช่วยให้เด็ก ๆ เรียนรู้แยกแยะและตอบสนองทางอารมณ์ได้อย่างถูกต้อง
  • ช่วยให้เด็กเข้าใจเรื่องจังหวะ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในทักษะการพูด

ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก ariyasound