พิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่ ศ.ดร.สตางค์ มงคลสุข ผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้ง ม.อ.หาดใหญ่

ดร สตางค์

(5 กรกฎาคม 2562) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่ ศ.ดร.สตางค์ มงคลสุข อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และเป็นคณบดีคนแรกของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ.

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวสดุดีเกียรติประวัติเพื่อรำลึกถึง ศ.ดร.สตางค์ มงคลสุข จากนั้นพิธีวางพวงมาลัยดอกไม้สักการะ ณ รูปหล่อ ศ.ดร.สตางค์ มงคลสุข พิธีสงฆ์ พร้อมด้วยมอบทุนมงคลสุขแก่นักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ และมอบรางวัลเกียรติคุณ 

ศ.ดร. สตางค์ มงคลสุข เป็นกำลังสำคัญในการก่อสร้างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ในปี 2509 เพื่อมุ่งที่จะใช้เป็นอาคารเรียนของคณะวิศวกรรมศาสตร์ เนื่องจากมหาวิทยาลัย ได้เปิดรับนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ รุ่นแรก จำนวน 50 คน ขณะนั้นอาศัยอาคารเรียนของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ทำการสอน

ในระหว่างการก่อสร้างมหาวิทยาลัยที่ปัตตานี นั้น ศ. ดร.สตางค์ มงคลสุข ได้เดินทางไปสำรวจดูแลการก่อสร้าง และพบว่าบริเวณพื้นที่ดังกล่าวไม่เหมาะสมที่จะสร้างเป็นอาคารของคณะวิศวกรรมศาสตร์ และได้เห็นว่าบริเวณที่ ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยมาก ท่านจึงได้ติดต่อ กับ ท่านคุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร ซึ่งท่านคุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร ก็ได้บริจาคที่ดินแปลงดังกล่าว เป็นจำนวน 690 ไร่ เพื่อให้จัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ โดยเริ่มก่อสร้างในปี 2512 เมื่อการก่อสร้างบางส่วนแล้วเสร็จ ในปี 2514 อาจารย์และนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ปีที่ 2 , 3 และ 4 ประมาณ 200 คน ก็ย้ายมาอยู่ประจำที่ศูนย์หาดใหญ่ ส่วนนักศึกษาปีที่ 1 ก็ยังคงเรียนที่กรุงเทพฯ และย้ายลงมาใน ปี 2515 สำหรับนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งเริ่มเปิดรับรุ่นแรกในปี 2512 จำนวน 60 คน และบุคลากรหน่วยงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยฯ ก็ย้ายมายังศูนย์หาดใหญ่ในปี 2515

จากนั้นเป็นต้นมา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก็ได้มีการพัฒนาและเปิดสอนคณะวิชาต่างๆ ตามแนวคิดและแผนการพัฒนามหาวิทยาลัยที่ท่าน ศ.ดร.สตางค์ ได้วางไว้มาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากงานด้านบริหารการศึกษาที่ท่านได้ทำคุณประโยชน์ไว้อย่างมากมาย ท่านยังเป็นนักวิจัยที่มีผลงานการวิจัยที่สำคัญและมีชื่อเสียงได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ทั้งภายในและภายนอกประเทศ แต่ละแห่งที่ท่านบริหาร ท่านจะส่งเสริมบรรยากาศการวิจัยให้ทุกหน่วยงาน และได้วางนโยบายให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยอีกแห่งหนึ่ง โดยได้เริ่มโครงการติดต่อขอความช่วยเหลือจากนานาประเทศ