“สงขลานครินทร์” ทำแผนนำวิทยาศาสตร์ดิจิทัลสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เกษตร การท่องเที่ยว และสาธารณสุข

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดทำแผนงาน “วิทยาศาสตร์ดิจิทัลเพื่อสร้างนวัตกรรม สําหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรมนุษย์” เพื่อใช้องค์ความรู้ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง การท่องเที่ยว และสาธารณสุข เพื่อรับกระแสการเปลี่ยนแปลงสู่โลกดิจิทัล ที่ต้องการทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นผู้ที่มีความรู้และมีทักษะที่จําเป็นสำหรับอนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่และการพัฒนาประเทศตามแนว BCG Economy ที่เน้นการพัฒนาโดยอาศัยเศรษฐกิจชีวภาพ การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน โดยความร่วมมือด้านวิชาการกับ Stanford University ประเทศสหรัฐอเมริกา และงบประมาณสนับสนุนจาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เถกิง วงศ์ศิริโชติ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยได้มีการพัฒนาศักยภาพในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดิจิทัลมาโดยตลอด โดยมีคณาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถในการสอน การวิจัย การให้บริการทางวิชาการในทุกวิทยาเขต มีเครื่องมืออุปกรณ์และระบบงานทางเทคโนโลยีดิจิทัล จึงพร้อมในการสนับสนุนการพัฒนาทั้งในด้านทรัพยากรมนุษย์ให้มีทักษะและสมรรถนะด้านดิจิทัล ตลอดจนทําการศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่เพื่อตอบโจทย์ปัญหาของประเทศ นอกจากนั้นยังมีความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ และมีความสัมพันธ์และข้อตกลงเพื่อความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนําในต่างประเทศ ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น Stanford University ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

สำหรับแผนงาน “วิทยาศาสตร์ดิจิทัลเพื่อสร้างนวัตกรรม สําหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรมนุษย์” ถือเป็นเป็นมิติใหม่ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่พยายามรวมคณาจารย์และนักวิจัยที่อยู่ในด้านคณิตศาสตร์ สถิติ คอมพิวเตอร์ การแพทย์ ระบาดวิทยา และสาธารณสุข ซึ่งมีอยู่มากกว่า 50 คน โดยมีคณะที่เกี่ยวข้องในแต่ละวิทยาเขตร่วมเป็นหลักในการดำเนินการตามแผน เพื่อตอบโจทย์ที่ต่างกันในแต่ละพื้นที่ เช่น วิทยาเขตปัตตานีจะตอบโจทย์ด้านมลพิษสิ่งแวดล้อมและปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานีมีแผนงานนำ Internet of Things (IoT) และ Digital Science ไปช่วยในการพัฒนาด้านการเกษตรที่ทุ่งไสไช วิทยาเขตภูเก็ตเป็นเรื่องด้านการท่องเที่ยวและ Digital Science และ วิทยาเขตหาดใหญ่ เป็นเรื่องสุขภาพและการแพทย์ เป็นต้น

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้นำแผนดังกล่าวเข้าหารือกับ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งได้เห็นชอบและจะพิจารณาสนับสนุนงบประมาณบางส่วน ใน 3 โครงการคือ 1.“โครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์ดิจิทัล” ซึ่งเป็นหลักสูตรปริญญาโทและเอก หลักสูตร non degree การเสริมทักษะใหม่ การเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่หรือการฝึกทักษะที่จำเป็น 2.“โครงการดิจิทัลทวินเพื่อการท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน” เป็นงานวิจัยที่ศึกษาระหว่างบริบทของการท่องเที่ยวในลักษณะของ digital หาความแตกต่างระหว่างการค้นคว้าหาข้อมูลในเว็บไซต์กับสิ่งที่เป็นจริง และ 3. “โครงการการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ดิจิทัลเพื่อวัตกรรมการพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” ซึ่งเป็นการพัฒนาทุ่งไสไช ซึ่งจะมีการประเมินผลสัมฤทธิ หลังดำเนินโครงการผ่านไปแล้ว 1 ปี และหากผลการดำเนินการโครงการได้รับความสำเร็จก็จะได้รับการสนับสนุนในปีที่ 2-3 ต่อไป

Loading