ลักษณะทางกายภาพและประเภทของสินค้านำเข้า ส่งผลต่อภาษีนำเข้าอย่างไร?

เสียงสัมภาษณ์ ดร.ณัชชา สุขะวัธนกุล เรื่องภาษีนำเข้า ในรายการรู้กฎหมายง่ายนิดเดียว

พิธีการศุลกากรเมื่อเดินทางเข้าราชอาณาจักรไทย

เมื่อคุณเดินทางกลับเข้าเมืองไทย หลังจากผ่านขั้นตอนการตรวจพาสปอร์ตและรับกระเป๋าเดินทางแล้ว หากคุณมีสินค้าต้องสำแดง จะต้องเดินเข้าช่องตรวจสีแดง (Goods to Declare) หากไม่มีสินค้าต้องสำแดง ให้เข้าช่องตรวจสีเขียว (Nothing to Declare)

สำหรับผู้โดยสารที่เข้าช่องสีแดงและมีสินค้าต้องเสียภาษีศุลกากร สามารถทำการชำระภาษีหรือขอฝากสินค้า (มีค่ารับฝาก) เพื่อทำการชำระภาษีในภายหลังได้

สำหรับผู้โดยสารที่เข้าช่องสีเขียวและหากและได้รับการตรวจพบว่ามีสินค้าเกินกว่าที่อนุญาตหรือมีของต้องสำแดง แต่ไม่ทำการสำแดง จะได้รับการจับปรับและดำเนินคดีทางกฎหมาย

คอมพิวเตอร์ แล็บท็อป กล้องถ่ายรูป และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

สำหรับทริปทำงานที่คุณจะต้องพกพาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น แล็บท็อป โน้ตบุ๊ก ไอแพด นาฬิกา กล้องถ่ายวีดีโอ และกล้องถ่ายรูป เพื่อนำไปใช้ในระหว่างเดินทาง คุณสามารถทำเอกสารยื่นต่อศุลกากรก่อนเดินทางออกนอกประเทศได้ โดยคุณจะต้องเตรียมภาพถ่ายอุปกรณ์เหล่านี้ทั้งหมด 2 ชุด หมายเลข Serial Number หรือเครื่องหมายของอุปกรณ์ที่ยืนยันได้ มาแจ้ง ณ ห้องทำการศุลกากรขาออกระหว่างประเทศ โดยอุปกรณ์ทั้งหมดจะต้องเป็นของใช้แล้ว และจะต้องมีจำนวนเหมาะสม เจ้าหน้าที่จะออกใบรับแจ้งให้คุณนำมายื่นเพื่อยกเว้นภาษีเมื่อเดินทางกลับเข้าประเทศ

สินค้าใดไม่ต้องเสียภาษีตามพิกัดศุลกากรขาเข้า

สินค้าที่คุณสามารถนำเข้ามาได้โดยไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร คือ โทรศัพท์ กล้อง และอุปกรณ์ไอทีต่างๆ ที่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า แต่คุณจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% (อันนี้มันเลี่ยงไม่ได้จริงๆ นะคุณขา)

อัตราการคิดภาษีนำเข้าของศุลกากร

สินค้าที่คุณซื้อจากต่างประเทศ หรือสินค้าปลอดภาษีที่คุณซื้อจากร้าน duty free ทั้งขาออกและขาเข้านั้น หากทั้งหมดมีมูลค่ารวมกันเกินกว่า 20,000 บาท คุณจะต้องเสียภาษีศุลกากรตามพิกัดศุลกากร ดังนี้

  • กระเป๋าแบรนด์เนม 20% ของราคาตามใบเสร็จ + ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
  • รองเท้า 30% ของราคาตามใบเสร็จ + ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
  • นาฬิกา 5% ของราคาตามใบเสร็จ + ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
  • โทรศัพท์ กล้อง และอุปกรณ์ไอทีต่างๆ ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า แต่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%