วันที่ 14 พฤษภาคม 2563 นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า “ในปีนี้ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการตามเกณฑ์ทางอุตุนิยมวิทยาตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. 2563 เป็นต้นไป และจะสิ้นสุดลงในช่วงกลางเดือน ต.ค. ในระยะแรกของฤดูปริมาณและการกระจายตัวของฝนจะยังไม่สม่ำเสมอ แต่จะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้นในช่วงปลายเดือนนี้ และมีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน ประมาณ 1-2 ลูก ส่วนบริเวณภาคใต้นั้นจะมีฝนตกต่อไปอีกจนถึงกลางเดือนมกราคม 2564”
เมื่อมีการประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว แน่นอนว่าอากาศเริ่มเย็นลงและมีความชื้นสูงขึ้น เป็นสาเหตุให้โรคหลายชนิดสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ประกาศเตือน 5 กลุ่ม โรคที่มากับหน้าฝน ได้แก่
1. กลุ่มโรคติดต่อของระบบทางเดินอาหาร
- โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลชีพที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารที่ลำไส้ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ อาจมีไข้ ปวดบิดในท้อง และหากติดเชื้อบิดอาจมีมูกหรือเลือดปนอุจจาระได้
- เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอและบี ติดต่อจากการรับประทานอาหารปนเปื้อนเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอและบี ทำให้ผู้ป่วยมีอาการตับอักเสบ มีไข้ อ่อนเพลีย ตัวเหลือง ตาเหลืองหรือดีซ่าน คลื่นไส้อาเจียน
2. กลุ่มโรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง เช่น
- โรคไข้ฉี่หนู หรือแลปโตสไปโรซิส ผู้ป่วยมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ มักปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่องและโคนขาอย่างรุนแรง ตาแดง ประมาณร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรง เช่น ดีซ่าน ไตวาย หรือช็อคได้
3. กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ
- โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบหรือปอดบวม ปัจจุบันมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ H1N1 และโรคไข้หวัดนกที่มีแหล่งแพร่ระบาดมาจากสัตว์ปีก เชื้ออาจมีการผสมข้ามสายพันธุ์กับเชื้อไข้หวัดใหญ่ในช่วงระบาดในฤดูฝนได้
4. กลุ่มโรคติดต่อที่เกิดจากยุง
- ไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ในระยะแรกจะมีอาการเหมือนการติดเชื้อไวรัสทั่วไป เช่น มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีอาการปวดกระดูกมาก ไข้สูงประมาณ 2-7 วัน หลังจากนั้นไข้จะลดลง อาจมีเลือดออกผิดปกติ มือเท้าเย็น หรือช็อคได้
- ไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese Encephalitis) มียุงรำคาญเป็นพาหะนำโรค มักแพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำตามทุ่งนา ผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน หลังจากนั้นจะมีอาการซึมลงหรือชัก ผู้ป่วยอาจเสียชีวิต หรือพิการหากไม่ได้รับการรักษา
- โรคมาลาเรียมียุงก้นปล่องที่อยู่ในป่าเป็นพาหะนำโรค ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น ซีดลง เนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตก หากเป็นชนิดรุนแรงอาจมีอาการไตวาย ตับอักเสบ ปอดผิดปกติ
5. กลุ่มโรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดง เกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา
การป้องกันโรคที่มากับหน้าฝน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- สวมเสื้อผ้าเพื่อรักษาร่างกายให้อบอุ่น
- ดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุก
- ควรรับประทานอาหารที่สุก ใหม่ สะอาด และใช้ช้อนกลางทุกครั้ง