ตำรับยา “จันทน์ลีลา” ลดไข้เปลี่ยนฤดู

ตอนกลางวันแดดร้อน ตอนบ่ายฝนตก รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวเพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย นี่คือสัญญาณที่บอกว่าคุณกำลังป่วย มีอาการของไข้หวัด การติดเชื้อไวรัส และอื่นๆหรือเปล่า?  วันนี้เรามีข้อมูลจากโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทย ม.อ. มาฝากกันในเรื่องของ ยาจันทน์ลีลา ที่เรียกได้ว่าเป็นยาแผนโบราณ

ในทางการแพทย์แผนไทย เมื่อแพทย์พบผู้ป่วยที่มาด้วยอาการไข้ ให้ตรวจวิเคราะห์ให้ถี่ถ้วนว่าเกิดจากสมุฏฐานใด โดยพึงพิจารณาจากสมุฏฐานการเกิดไข้ ว่าไข้นั้นเกิดด้วย ธาตุ  อุตุ  อายุ กาล อาหาร หรือ ภูมิประเทศ ใดเป็นสำคัญ

“จันทน์ลีลาคือตำรับยาสมุนไพร ที่มีตัวยาหลายอย่าง เช่น โกฐ แก่นจันทร์ ลูกกระดอม บอระเพ็ด รากปลาไหลเผือก ซึ่งการใช้ตำรับนี้สามารถครอบคลุมการรักษาไข้ได้ เพราะประกอบด้วยตัวยาสมุนไพรหลายชนิดในตำรับ มีตัวยาตรงช่วยแก้ไข้ ลดความร้อนในร่างกาย และตัวยาช่วยเพื่อลดอาการข้างเคียงของไข้”

แพทย์แผนไทย คมจักร  แก้วน้อย
อาจารย์ประจำคณะการแพทย์แผนไทย ม.อ.

ทั้งยังมีข้อมูลว่ายาจันทน์ลีลาเป็นยาแผนไทยที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ และมีการศึกษาวิจัยแล้วพบว่ามีสรรพคุณลดไข้ได้ไม่แตกต่างจากยาพาราเซตามอล ไม่พบการก่อพิษระยะสั้นและระยะกึ่งเรื้อรัง โดยขณะนี้ยาจันทน์ลีลาได้ผ่านการพิจารณาของอนุกรรมการและคณะกรรมการพิจารณายา จัดให้เป็นยาสามัญประจำบ้าน และบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว

“ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากอาจบดบังอาการของไข้เลือดออก และหากใช้ยาเป็นเวลานานเกิน 3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์”

ขนาดและวิธีใช้

ชนิดผง

ผู้ใหญ่  :  รับประทานครั้งละ 1 – 2 กรัม ละลายน้ำสุก ทุก 3 – 4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ

เด็ก อายุ 6 – 12 ปี  :  รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 1 กรัม ละลายน้ำสุก ทุก 3 – 4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ

ชนิดแคปซูลและชนิดเม็ด

ผู้ใหญ่  :  รับประทานครั้งละ 1 – 2 กรัม ทุก 3 – 4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ

เด็ก อายุ 6 – 12 ปี  :  รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 1 กรัม ทุก 3 – 4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ

การรู้จักสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกายจะช่วยให้คุณสามารถรับมือกับโรคที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที เพราะการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงด้วย

ขอบคุณข้อมูล : โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทย ม.อ.