ช่วงทศวรรษ 2460 หญิงชาวสยามที่เดินทางไปศึกษาต่างประเทศ ไม่ได้มีจุดประสงค์เพียงแค่เรียนรู้ด้านการเรือนและการเข้าสมาคมเท่านั้น แต่ยังปรากฏความพยายามของผู้หญิงอีกกลุ่มที่พวกเธอหมายมุ่งสู่เมืองนอกเพื่อแสวงหาความก้าวหน้าทางวิทยาการ หรือหมายนำเอาความรู้พิเศษเฉพาะทางมาใช้ในการประกอบวิชาชีพซึ่งสังคมไทยขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญ
ผู้หญิงสยามคนหนึ่งตัดสินใจเลือกศึกษาวิชาพิเศษเฉพาะทางที่ไม่สามารถหาเรียนได้ในเมืองไทยช่วงทศวรรษ 2460 อย่างวิชาแพทย์ ซึ่งยุคนั้นผู้สนใจศึกษาแขนงวิชานี้ต้องเดินทางไปร่ำเรียนในทวีปยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา มิหนำซ้ำ เธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้ปริญญาแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลอนดอนและย้อนกลับมาประกอบกิจการแพทย์ในประเทศไทย นามของเธอคือนางสาวมากาเร็ต ลิน เซเวียร์ หรือที่คนเรียกขานกันติดปากว่า ‘คุณหมอลิน’
แพทย์หญิงมากาเร็ต ลิน เซเวียร์ เป็นบุตรีของพระยาพิพัฒน์โกษา (เซเลสติโน ซาเวียร์ หรือ C.M. Xavier) ปลัดทูลฉลอง กระทรวงการต่างประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ทอดเวลายาวนาน 25 ปี และต่อมาจึงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำประเทศอิตาลี ส่วนมารดาของเธอชื่อนางกิมกี คุณหมอลินลืมตาดูโลกเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พุทธศักราช 2441 ณ บ้านเชิงสะพานพิทยเสถียร ทางฝั่งตะวันออกของคลองผดุงกรุงเกษม ตำบลมหาพฤฒาราม อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร
“แพทย์หญิงแห่งตระกูลเซเวียร์เชี่ยวชาญด้านสูตินารีอันเกี่ยวข้องกับมารดาและทารกเป็นหลัก เธอจึงเป็นที่นิยมอย่างสูงจากบรรดาคนไข้สุภาพสตรี โดยเฉพาะการทำคลอด แทบจะเรียกได้ว่ามีทารกในพระนครจำนวนมากรายที่เคยผ่านมือคุณหมอผู้นี้”
หมอลินกลับสยามเมื่อปี พ.ศ. 2467 ทำงานที่แผนกความผาสุกของเด็กและทารก ในกองกลางหน่วยที่ 1 สภากาชาดไทย รวมถึงปฏิบัติหน้าที่ประจำสุขศาลาบางรัก หมอลินในวัย 26 ปี ได้รับอนุญาตจากสภากาชาดไทยให้ประกอบโรคศิลป์โดยกิจการส่วนตัวได้ จึงเป็นแพทย์หญิงคนแรกที่เปิดคลินิกได้ โดยมีคลินิกที่ชื่อ อุณากรรณ ตั้งอยู่บนถนนสี่พระยา ที่เป็นที่นิยมในหมู่สตรี
หมอลินสมรสกับพันเอกพระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล) มีบุตรธิดา 3 คน ได้แก่ นายกิตติรัต ศรีวิสารวาจา, ท่านผู้หญิงมนัสนิตย์ วณิกกุล และคุณหญิงสาวิตรี โอสถานุเคราะห์
หมอลินรักษาคนไข้ในทุกชนชั้น ไม่ใช่เพียงเฉพาะชนชั้นสูง คนไข้จำนวนมากของหมอลินเป็นโสเภณีที่ยากจนที่เธอให้การรักษาโดยไม่คิดค่าตอบแทน แม้หมอลินจะอยู่ในช่วงให้นมบุตร ก็ยังคงทำงาน หมอลินให้นมบุตรด้วยตนเอง ซึ่งในยุคนั้นมารดามักไม่ได้ให้นมบุตรด้วยตัวเอง โดยจะจ้างแม่นมให้นมแทน
คุณหมอลินป่วยหนักด้วยโรคมันสมองอักเสบรวมถึงไข้หวัดใหญ่เข้าแทรก และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ด้วยวัย 34 ปี
“ชีวิตบุคคลทางการแพทย์ในโฉมหน้าประวัติศาสตร์นั้น ปฏิเสธมิได้ถึงความน่าสนใจครามครัน ยิ่งที่เป็นผู้หญิงด้วยแล้วช่างชวนติดตามทีเดียว เชื่อเลยว่าไม่น่าเปล่าเปลืองเวลาและคงก่อประโยชน์อยู่บ้างต่อทุกสายตาที่จดจ่อเพ่งอ่าน หากผมนำเอาเรื่องราวของแพทย์หญิงคนแรกของไทยเมื่อเกือบ 100 ปีก่อนซึ่งปริ่มๆ จะหล่นหายจากความทรงจำแห่งวันวานมาเปิดเผยให้สนุกสนานผ่านแต่ละบรรทัด”
ขอบคุณ Google doodles ที่สร้างวันรำลึกถึงบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์
ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติม : thematter, wikipedia