มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผนึกกำลังสำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา ร่วมพัฒนาทักษะด้านการจัดการเรียนการสอนออนไลน์แก่ครูอาชีวศึกษาในเขตภาคใต้ เพื่อให้มีสมรรถนะในการจัดการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์และพัฒนาสื่อดิจิทัลเพื่อการอาชีพแบบออนไลน์ โดยจัดอบรมรุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 25 – 29 พฤษภาคม 2563 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ในประเทศไทยส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษาทุกระดับ ส่งผลให้กระทรวงศึกษาธิการหยุดการเรียนการสอนและเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2563 เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 และมีนโยบายให้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา จึงกำหนดกรอบการดำเนินงานเพื่อให้การจัดการเรียนการสอนออนไลน์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพสอดคล้องกับสถานการณ์
ในด้านของการพัฒนาครูและบุคลากรอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาได้เตรียมความพร้อมพัฒนาครู ให้มีสมรรถนะในการจัดการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์และพัฒนาสื่อดิจิทัลเพื่อการอาชีพแบบออนไลน์ สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา จึงได้ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีทางอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดโครงการ “อบรมพัฒนาทักษะครูอาชีวศึกษาด้านการจัดการเรียนการสอนออนไลน์” ทั่วประเทศ โดยในเขตภาคใต้มีครูกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 2,000 คน แบ่งเป็น 4 รุ่น รุ่นละ 500 คน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย สำนักนวัตกรรมดิจิทัลและระบบอัจฉริยะ (ศูนย์คอมพิวเตอร์) สำนักการศึกษาและนวัตกรรมการเรียนรู้ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้รับมอบหมายให้เตรียมความพร้อมของครู
ซึ่งผลสําเร็จของโครงการจะได้หลักสูตรการพัฒนาครูอาชีวศึกษาการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ เพื่อ การอาชีพและเป็นการเตรียมครูที่มีความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถพัฒนาบทเรียนออนไลน์เป็นตัวแบบในการผลิตสื่อดิจิทัลเพื่อการอาชีพในวิทยาลัย ตามขั้นตอนของรูปแบบการจัดการเรียนการสอนออนไลน์อาชีวศึกษายุควิกฤติโควิด 19 และขยายผลไปสู่ครูสังกัดสํานักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเครือข่ายครูที่เข้าร่วมในโครงการจะสามารถสร้างสื่อดิจิทัลเพื่อการอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ นักเรียนจะมีสื่อดิจิทัลเพื่อการอาชีพในวิทยาลัยสังกัด สํานักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่มีประสิทธิภาพและส่งผลต่อคุณภาพการเรียนรู้ เหมาะสมกับ รายวิชาตามหลักสูตร