กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ฝนตกหนัก ระมัดระวังอุบัติเหตุจราจรในการขับขี่รถ และอุบัติเหตุจากลมพายุ ควรตรวจสอบสถาพรถให้พร้อมใช้งาน โดยเฉพาะที่ปัดน้ำฝน และระบบไฟ ซึ่งขณะที่ฝนตกหนัก ทำให้ทัศนวิสัยในการขับขี่ลดลง อาจมีต้นไม้หักโค่น หรือสิ่งของบนถนนกีดขวางการจราจร ควรหยุดรถในที่ปลอดภัย ห่างจากสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคง ป้ายโฆษณา หรือสิ่งของต่างๆ หล่นทับ จนทำให้บาดเจ็บหรืออาจเสียชีวิตได้ และขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือ
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าในช่วงนี้ เกือบทั่วทุกภาคของประเทศไทย จะมีฝนตกอย่างต่อเนื่องและฝนตกหนักบางพื้นที่ นั้น กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนระมัดระวังการขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนน ควรเพิ่มความระมัดระวัง โดยการตรวจสอบสถาพรถให้พร้อมใช้งาน เช่น ที่ปัดน้ำฝน หรือระบบไฟฟ้า และควรลดความเร็วลง ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ช่วงที่ฝนเริ่มตกใน 10 นาทีแรก เป็นช่วงที่รถมีโอกาสลื่นไถลมากที่สุด เพราะน้ำฝนจะชะล้างคราบน้ำมันและฝุ่นละอองที่ติดอยู่บนพื้นถนน ทำให้เกิดเป็นเสมือนแผ่นฟิล์มอยู่บนผิวถนน ซึ่งอาจส่งผลให้รถลื่นและเสียหลักจนเกิดอุบัติเหตุได้
รวมถึงระมัดระวังการขับรถตามทางโค้งต่างๆ ที่มีน้ำขัง อาจเกิดการเหินน้ำและทำให้รถเสียการควบคุมได้ ดังนั้น การลดความเร็วของรถ จึงเป็นการเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ ที่สำคัญหากฝนตกหนัก ทำให้ทัศนวิสัยในการขับขี่ลดลง อาจต้นไม้หักโค่น หรือสิ่งของบนถนนกีดขวางการจราจร ควรหยุดรถในที่ปลอดภัย ไม่ควรอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง ซึ่งอาจเสี่ยงโดนฟ้าผ่า และไม่ควรอยู่ใกล้ต้นไม้ใหญ่ เสาไฟฟ้า และป้ายโฆษณาต่างๆ เพราะอาจเกิดการหักโค่นหรือหล่นทับ ทำให้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้
สำหรับพื้นที่ที่ฝนตกหนัก ประชาชนควรเตรียมรับมือกับน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง หากประชาชนอาศัยอยู่บริเวณริมน้ำหรือในพื้นที่เสี่ยงตามที่หน่วยงานภาครัฐแจ้งเตือน ควรรีบเคลื่อนย้ายไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย และควรจัดเตรียมน้ำ อาหารแห้ง ไฟฉาย ตลอดจนยารักษาโรคให้พร้อม นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐอย่างใกล้ชิด เตรียมความพร้อมในทุกด้านเพื่อป้องกันความสูญเสียทั้งในกลุ่มผู้ใหญ่และเด็ก เพื่อป้องกันการจมน้ำ
“ขอให้ประชาชนยึดหลัก “3 ห้าม 2 ให้” โดย “3 ห้าม” ได้แก่
- ห้ามเล่นน้ำ
- ห้ามหาปลา เก็บผัก
- ห้ามดื่มสุรา
- และ “2 ให้” ได้แก่
- ให้สวมเสื้อชูชีพ (หรือนำอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ติดตัวไปด้วย เช่น ถังแกลลอน ขวดน้ำพลาสติกเปล่าปิดฝา)
- ให้เดินทางเป็นกลุ่ม เพื่อคอยดูแลซึ่งและกัน
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ประชาชนระมัดระวังสัตว์มีพิษกัดต่อย เนื่องจากในช่วงที่ฝนตกและมีน้ำท่วมฉับพลัน อาจมีสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ที่หนีน้ำมาหลบซ่อนอาศัยอยู่ตามมุมมืดต่างๆ ของบ้าน เช่น ตู้เก็บของ ในครัว เป็นต้น โดยหลังจากฝนตกแล้วควรตรวจสอบในจุดต่างๆ ของบ้าน เพื่อป้องกันสัตว์มีพิษเข้าบ้าน และควรป้องกันไม่ให้สัตว์มีพิษกัดต่อย โดยไม่เข้าไปในที่รก ไม่แช่น้ำเป็นเวลานาน หากต้องลุยน้ำควรแต่งกายให้มิดชิด ใส่กางเกงขายาว สวมถุงพลาสติกหุ้มเท้าและหุ้มปลายขากางเกงทั้งสองข้างแล้วรัดด้วยเชือกหรือยาง เพื่อป้องกันสัตว์มีพิษเข้าไปในกางเกง ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ขอบคุณข้อมูล : กองป้องกันการบาดเจ็บ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค