“พาราควอต” และ “คลอร์ไพริฟอส” วัตถุอันตราย ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก และการมีไว้ในครอบครอง

ตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีมติให้ออกประกาศกำหนดวัตถุอันตราย พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (วอ.4) ได้แก่ วัตถุอันตรายที่ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก และการมีไว้ในครอบครองโดยกำหนดระยะเวลาใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563

“พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส คือ สารกำจัดวัชพืชเป็นหลัก เป็นสารเคมีความเสี่ยงสูงเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งทางตรงและทางอ้อม และทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค จึงได้ห้ามไม่ให้มีการใช้ หากเกษตรกรท่านใดที่ซื้อมาแล้วให้นำไปคืนที่ร้านนั้นภายใน 90 วัน ซึ่งในปัจจุบันหากผู้ใดมีไว้ในครอบครองถือว่าไม่ถูกต้องแนะนำให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฏหมาย”

นายสุพิท จิตรภักดี
ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา

สำหรับเกษตรกรผู้ที่มีพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ไว้ในครอบครองจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของกรมวิชาการเกษตร ดังนี้

     1. ให้เกษตรกรส่งมอบคืนวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (วอ.4) ให้ร้านค้าที่ซื้อมาภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 หรือไม่เกินวันที่ 29 สิงหาคม 2563

     2. ร้านค้าส่งคืนผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า และแจ้งปริมาณที่ครอบครองทั้งที่รับคืนจากเกษตรกรและที่ร้านค้าครอบครองอยู่ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ที่รับผิดชอบภายใน 120 วัน หรือไม่เกินวันที่ 28 กันยายน 2563

     3. ผู้ผลิตและผู้นำเข้าแจ้งปริมาณที่ตนครอบครองและที่รับคืนมาทั้งหมดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ภายใน 270 วัน หรือไม่เกินวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 พร้อมกำหนดแผนวัน วิธี และสถานที่ในการทำลายให้พนักงานทราบ

สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา แนะนำให้เกษตรกรใช้วิธีการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน การปลูกพืชคลุมดิน การปรับเปลี่ยนระบบการปลูกพืช สามารถศึกษาข้อมูลวิชาการในการใช้สารทดแทน หรือวิธีการอื่นที่เหมาะสมจากกรมวิชาการเกษตร เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับเกษตรกรในการควบคุมศัตรูพืชหลากหลายวิธี เพื่อลดปริมาณการใช้สารเคมีลง ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีความปลอดภัย ส่งผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกร ซึ่งเป็นผู้ผลิต รวมถึงผู้บริโภค ส่งผลกระทบทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น