ม.อ. เผยผลสำรวจประชาชนชายแดนใต้ กังวลผลกระทบโควิดมากกว่าเหตุการณ์ความไม่สงบ

สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้านผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา และมาตรการของรัฐพบว่า ประชาชนกว่าร้อยละ 75 ได้รับผลกระทบด้านการประกอบอาชีพ ร้อยละ 83.6 ระบุมีรายได้ลดลง และบางส่วนร้อยละ 18.2 ยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการและการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐ แต่ยังพออยู่ได้ด้วยการช่วยเหลือกันในชุมชน พร้อมให้คะแนนความพึงพอใจต่อการแก้ปัญหาของรัฐบาล 6.39 เต็ม 10 ทั้งนี้การสำรวจ จำนวน 820 ตัวอย่าง จาก 164 ชุมชนในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ อ.จะนะ อ.เทพา อ.นาทวีและ อ.สะบ้าย้อย ระหว่างวันที่ 21 พ.ค. – 5 มิ.ย. 2563

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี หัวหน้าโครงการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนด้านผลกระทบ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาและมาตรการของรัฐ และนักวิจัยสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า ผลกระทบต่อประชาชนที่เห็นได้ชัดเจน คือ ด้านเศรษฐกิจซึ่งประชาชนในพื้นที่โดยส่วนใหญ่มีรายได้น้อย การประกอบอาชีพและรายได้ของประชาชนได้รับผลกระทบอย่างสูงและขยายวงกว้าง โดยร้อยละ 75.6 ได้รับผลกระทบด้านอาชีพ และร้อยละ 83.6 ระบุว่ามีรายได้ลดลง ในขณะที่ร้อยละ 49.9 มีรายจ่ายของครอบครัวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากร้อยละ 18.8 ไม่สามารถออกไปทำเกษตรหรือประมงได้ ส่วนร้อยละ 14.3 ถูกพักงานชั่วคราว ร้อยละ 12.8 ไม่มีใครจ้างงาน และร้อยละ 9.9 จำเป็นต้องเลิกค้าขาย ได้รับผลกระทบด้านการศึกษาของตัวเองหรือบุตรหลานมาก รวมไปถึงด้านการเดินทางออกนอกพื้นที่ การเดินทางไปประกอบอาชีพหรือทำเกษตร การไปจับจ่ายซื้อ ของในชีวิตประจำวัน และการปฏิบัติศาสนกิจ
เป็นที่น่าสังเกตว่า ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้แม้จะยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ แต่ไม่มากเท่ากับความกังวลด้านผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรค


อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด แต่ต้องไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิต โดยมาตรการที่ประชนเห็นด้วยเป็นอันดับแรก คือ การสวมหน้ากากอนามัย รองลงมาการให้เงินชดเชยและสวัสดิการแก่ประชาชนที่เดือดร้อนจากมาตรการควบคุมโรค การห้ามซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การปิดหมู่บ้านที่มีผู้ติดเชื้อ และการห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เป็นลำดับ ในขณะที่มาตรการที่ประชาชนไม่เห็นด้วยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์/ทางไกลในปีการศึกษาใหม่ การปิดบริการขนส่งมวลชนสาธารณะ ทุกประเภท การงดละหมาดที่มัสยิด การห้ามขายอาหารในร้าน และการห้ามออกจากบ้านระหว่าง เวลา 22.00 – 4.00 น.
ประชาชนมีความพอใจกับ การดำเนินงานการแก้ปัญหาของหน่วยงานสาธารณสุชและ อสม.มากที่สุด รองลงมาคือผู้นำชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือ อบต. ผลสำรวจพบว่า การมีสวัสดิการจากรัฐและการช่วยเหลือกันของคนในชุมชนเปรียบเสมือนตาข่ายนิรภัยรองรับความเจ็บป่วย ทางสังคมเศรษฐกิจและจิตใจ สวัสดิการที่ประชาชนได้รับ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นสิ่งที่ประชาชนจำนวนมากถึงร้อยละ 73.1 ได้รับ รวมไปถึงสวัสดิการด้านสุขภาพจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่มีผู้ได้รับสิทธิ ร้อยละ 57.1 และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ร้อยละ 34.9 นอกจากนี้ ในส่วนของการได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท อันเป็นมาตรการเยียวยาในช่วยวิกฤติโควิด-19 พบว่าร้อยละ 60.2 สมัครและได้รับเงินช่วยเหลือแล้ว แต่อีกร้อยละ 18.2 สมัครแล้วแต่ยังไม่ได้รับเงิน ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการติดตามและช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

สำหรับด้านความช่วยเหลือของคนในชุมชน พบว่าร้อยละ 69.9 ได้รับของบริจาคหรือถุงยังชีพจากหน่วยงานของรัฐและการช่วยเหลือบริจาคจากประชาชนด้วยกันเองและกลุ่มองค์กรการกุศล ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะพิเศษของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีต้นทุนทางสังคมและชี้ให้เห็นฐานของความยึดเหนี่ยวกันทางสังคมที่ดำรงอยู่แต่เดิม