ดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ รู้ทันป้องกัน COVID-19

เป็นที่ทราบกันดีว่า COVID-19 สามารถแพร่กระจายผ่านละอองฝอยที่มีเชื้อไวรัสปะปนจากผู้ติดเชื้อ ที่จาม ไอออกมา หรือสัมผัสพื้นผิวและสิ่งของที่ปนเปื้อนไวรัสจากผู้ติดเชื้อ หากเกิดการติดเชื้อจะส่งผลให้เกิดอาการในระบบทางเดินหายใจตั้งแต่ระดับไม่รุนแรงไปจนถึงขั้นเสียชีวิต โดยหญิงตั้งครรภ์ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ต้องมีการดูแลตัวเองให้มากขึ้น เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง คลอดอย่างปลอดภัยทั้งแม่และลูก

“ในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายมากกว่าช่วงปกติ ระบบภูมิคุ้มกันของคุณแม่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคระบบทางเดินหายใจได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของคุณแม่ ในขณะตั้งครรภ์ส่งผลให้หากเจ็บป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะมีความรุนแรงมากกว่าคนปกติ โดยหากคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ติดเชื้อ COVID-19 จะมีอาการไม่ต่างจากคนปกติ ในส่วนของการรักษาจะมีความซับซ้อนกว่า เช่น ต้องคำนึงถึงอายุครรภ์ ภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น ภาวะคลอดก่อนกำหนด เป็นต้น”

รศ.พญ.ฐิติมา สุนทรสัจ  
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา  คณะแพทยศาสตร์ ม.อ.

โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่วิธีการดูแลผู้หญิง ตั้งครรภ์ หลังคลอด และทารกแรกเกิด ช่วงการแพร่ระบาดโควิด 19 โดยแบ่งเป็น หญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด กลุ่มปกติ และที่เป็นกลุ่มเสี่ยง รวมถึงการดูแลทารกแรกเกิดในกรณีแม่เป็นผู้ที่สงสัยติดเชื้อและติดเชื้อ COVID-19

สำหรับหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด กลุ่มปกติ ให้ใช้หลักการป้องกัน ดูแลตนเอง อย่างเคร่งครัด ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดผู้ที่มีอาการไอ เป็นไข้ หรือผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง และในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด หรือรวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมาก
  • รักษาระยะห่าง social distancing ในการอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น ด้วยการอยู่ห่างกัน 1 – 2 เมตร
  • หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสบริเวณดวงตา ปาก และจมูก
  • หลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะรับประทานอาหารและของใช้ส่วนตัว ร่วมกับผู้อื่น
  • ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาดนานอย่างน้อย 20 วินาที ทุกครั้งที่มีการไอจาม สัมผัสสิ่งแปลกปลอม ก่อนรับประทานอาหาร หรือออกจากห้องน้ำ หากไม่มีสบู่ ให้ใช้แอลกอฮอล์เจล 70 เปอร์เซ็นต์
  • ในขณะไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ถ้ามีอาการไอ จาม ให้ใช้ต้นแขนด้านบนปิดปากทุกครั้ง

การดูแล หญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง

กลุ่มเสี่ยงในที่นี้คือ ผู้ที่มีประวัติการเดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง หรือสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ป่วย COVID-19 ควรปฏิบัติตน ดังนี้

  • แยกตนเองออกจากครอบครัว และสังเกตอาการจนครบ 14 วัน งดการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
  • งดการออกไปในที่ชุมชนสาธารณะโดยไม่จำเป็น และงดการพูดคุย หรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่นในระยะใกล้กว่า 2 เมตร
  • กรณีครบกำหนดนัดฝากครรภ์ ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบว่าตนเองอยู่ระหว่างการเฝ้าระวัง 14 วัน เพื่อพิจารณาเลื่อนการฝากครรภ์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่
  • กรณีเจ็บครรภ์คลอด ต้องไปโรงพยาบาลทันที และแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบว่าตนเองอยู่ระหว่างการเฝ้าระวัง 14 วัน

การดูแลทารกแรกเกิด ในกรณีแม่เป็นผู้ที่สงสัยติดเชื้อและติดเชื้อ COVID-19

  • ยังไม่มีหลักฐานการติดต่อผ่านทางรกหรือผ่านทางน้ำนมแต่อย่างใด
  • ทารกที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อ COVID-19 จัดเป็นผู้มีความเสี่ยง จะต้องมีการแยกตัวออกจากผู้อื่น และต้องสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน
  • บุคลากรทางการแพทย์ ควรอธิบายถึงความเสี่ยง ความจำเป็น และประโยชน์ ของการแยกแม่ออกจากทารกชั่วคราว ให้แม่เข้าใจและปฏิบัติตาม

ทั้งนี้ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีไข้ ไอ เป็นผู้ที่อาศัยอยู่หรือเพิ่งกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง หรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นผู้ป่วย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายและเพื่อให้แพทย์สามารถเลือกวิธีที่เหมาะสมสำหรับการตรวจและการวินิจฉัยได้