มีลูกแฝดดีไหม?

“ในมุมมองทางการแพทย์เรื่องการมีลูกแฝดไม่ง่ายเลย เพราะมีความเสี่ยงอื่นๆมีผลข้างเคียง ภาวะแทรกซ้อนที่มากกว่าการตั้งการตั้งครรภ์ลูกคนเดียว เช่น การแพ้ท้องมากกว่าปกติ เกิดจากฮอร์โมนจากการตั้งครรภ์ คุณแม่เกิดภาวะบวมน้ำหรือซีดได้ง่าย เจ็บท้องคลอดก่อนกำหนดที่เกิดจากมดลูกขยายเยอะ แต่ธรรมชาติของท้องแฝดคลอดก่อนกำหนดอยู่แล้ว เพราะมดลูกขยายเยอะเป็นสิ่งกระตุ้นทำให้เจ็บครรภ์คลอด อีกทั้งครรภ์แฝดมีโอกาสเสี่ยงแท้งกว่าปกติ ในช่วงไตรมาสแรก 3 เดือนแรก”

พญ.นัฐทิชา  ไชยณรงค์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.อ.

ฝาแฝดเกิดขึ้นได้อย่างไร

  •  แฝดแท้ เกิดจากการปฏิสนธิไข่ 1 ใบและอสุจิเพียง 1 ตัว แล้วแบ่งตัวเป็นสองส่วนแยกจากกันในภายหลัง ลูกฝาแฝดจะมีหน้าตารูปร่างเหมือนกัน
  • แฝดเทียม เกิดจากการปฏิสนธิไข่ 2 ใบและอสุจิ 2 ตัวที่แยกกันอยู่ในครรภ์แม่ หน้าตาจึงคล้ายกับพี่น้องคลานตามกันมา ไม่เหมือนเป็นพิมพ์เดียวกันแบบแฝดแท้ อาจเป็นเพศเดียวกันหรือคนละเพศก็ได้

“ในกลุ่มที่เป็นแฝดแท้มีหลายแบบสามารถใช้รกร่วมกันหรือแยกกันก็ได้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการแบ่งตัว ถุงน้ำคล่ำ 2 ถุง หรือถุงเดียวกัน ส่วนแฝดเทียม รก และถุงน้ำคล่ำจะแยกกัน หรือบางคนเหมือนแฝดอิน-จัน ก็คือตัวติดกันก็มี ซึ่งภาะวะแทรกซ้อนที่สามารถเกิดในช่วงการตั้งครรภ์ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ฉะนั้นคุณแม่ที่มีครรภ์แฝดควรดูแลตัวเองมากกว่าปกติ เพราะเป็นภาวะที่มีความเสี่ยง มีโอกาสจะแท้งหรือเกิดโรคแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์”

โรคและอาการแทรกซ้อนระหว่างที่คุณแม่ตั้งครรภ์แฝด มีอะไรบ้าง

            • อาการแพ้ท้องในตอนเช้า คุณแม่จะมีการอาเจียนค่อนข้างรุนแรงกว่าการตั้งครรภ์ปกตินะคะ

            • มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

            • มีอาการครรภ์เป็นพิษ

            • คลอดก่อนกำหนด โดยปกติอายุครรภ์จะไม่ถึง 38 สัปดาห์

            • มีอาการเลือดออก รกขวางปากมดลูก รกลอกตัวก่อนกำหนด

โรคแทรกซ้อนของทารกในครรภ์แฝด มีอะไรบ้าง

• เมื่อแรกเกิดมีน้ำหนักตัวน้อย

            • มีอาการตัวเหลือง เป็นโรคคดีซ่าน

            • ทารกมีปัญหาด้านการรับสารอาหาร

            • ทารกอาจต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลหลังจากคลอด

            • อาจมีปัญหาในเรื่องระดับอุณหภูมิในร่างกาย และระบบน้ำตาลไม่คงที่

            • อาจติดเชื้อ หรือป่วยง่าย เนื่องจากทารกบอบบางและอ่อนแอ

            • มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ

ฉะนั้น สำหรับคุณแม่ที่ต้องการตั้งครรภ์แฝดควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง และต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด