ศิษย์เก่าสงขลานครินทร์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ปลากะพงขาวทะเลสาบสงขลารมควัน ต่อยอดแนวคิดการแก้ปัญหาของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกะชัง

จากปัญหาราคาปลากะพงตกต่ำ และไม่มีตลาดในการจำหน่ายส่งผลให้เกษตรกร 2,000 ราย ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากมีการนำเข้าปลาจากต่างประเทศในราคาถูก โดยเบื้องต้นสำนักงานประมงจังหวัดสงขลา สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสงขลาและกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพง ได้ร่วมหารือและเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหา อาทิให้มีนโยบายควบคุมปริมาณการนำเข้าปลากะพงจากต่างประเทศ ขอความร่วมมือจากส่วนราชการหรือบริษัทห้างร้านช่วยซื้อปลากะพงจากเกษตรกรโดยตรง จัดมาตรการช่วยเหลือโดยการประกันราคา เป็นต้น

การทำประมง ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพหลักของชุมชนชาวเกาะยอ จังหวัดสงขลา โดยชาวบ้านที่ยึดอาชีพนี้จะใช้เครื่องมือประมงที่สืบทอดกันมายาวนาน ไม่ว่าจะเป็น การดักไซนั่ง การดักไซนอน การดักโพงพาง และการเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง 

ความได้เปรียบเชิงนิเวศทางธรรมชาติอันมาจากการมีสภาพน้ำถึง 3 อย่าง ได้แก่ น้ำเค็ม น้ำจืด และน้ำกร่อย จึงทำให้อาหารทะเลทุกชนิดมีรสชาติที่อร่อยกว่าที่อื่น แล้วถือเป็นโอกาสที่ชาวบ้านเกาะยอสามารถเลี้ยงปลากะพงในกระชังได้อย่างมีคุณภาพ จัดเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดสงขลาด้วย

คุณอากฤษฎิ์ ศศิอังกูร เจ้าของผลิตภัณฑ์ปลากะพงขาวรมควันทะเลสาบสงขลา Arkrit Farm และศิษย์เก่าคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เล่าว่า “ปัญหาของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกะชัง คือต้องลงทุนลงแรงรับความเสี่ยงต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว เพราะเป็นการเลี้ยงปลาแบบธรรมชาติ ค่าอาหาร ค่าแรง ค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกิดขึ้น โดยปลาขนาด 3-4 กิโลกรัม ต้องใช้เวลาเลี้ยงถึง 24 เดือน โดยที่ผ่านมาราคาปลากะพงสดตกต่ำเนื่องจากมีปลาจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาขายในราคาที่ต่ำกว่า ทำให้ไม่มีการต่อยอดนำไปแปรรูปนอกเหนือจากหนังปลากะพงทอดกรอบ กับขายสดเพื่อนำไปประกอบอาหาร”

“เมื่อมูลค่าเพิ่มไม่สูง จึงทำการค้นหาข้อมูลจนพบกว่าตลาดปลารมควันในต่างประเทศมีขนาดตลาดที่ใหญ่และมูลค่าตลาดที่สูงมาก จากการสอบถามคนเลี้ยงปลา พบว่าเค้าอยากจะขายปลากะพงทะเลสาบสงขลา(เกาะยอ) ให้ได้ กิโลกรัมละ 180 บาท ผมจึงมาลองคำนวณต้นทุน พบว่าถ้าเรานำไปแปรรูปเป็นปลารมควัน จะทำให้สามารถรับซื้อปลาจากเกษตรได้ 180-250 บาทต่อกิโลกรัม โดยเกษตรกรคนเลี้ยง ชาวประมงท้องถิ่น แม่ค้าปลาในตลาด ชุมชนรอบทะเลสาบ คนแปรรูป ผู้บริโภค รวมไปถึงทะเลสาบสงขลา จะสามารถได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน เพราะเค้าต้องอาศัยทะเลสาบสงขลา ถ้าเกิดอะไรขึ้นพวกเค้าก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วยทำไมปลาแซลมอลจึงไปขายทั่วโลกได้แล้วปลากะพงขาวทะเลสาบสงขลาจึงไปขายทั่วโลกด้วยไม่ได้ ทั้งๆที่ทะเลสาบที่คล้ายกับทะเลสาบสงขลาในโลกนี้มีเพียงไม่กี่แห่ง”

สำคัญที่สุด ผมเพิ่งเห็นคุณค่าของปลากะพงขาวทะเลสาบสงขลา ตอนที่ผมไม่มีอะไรเลย ไม่มีรายได้ เลยเข้าใจถึงความยากลำบากของคนอื่นคนที่ไม่มีสตางค์ ไม่มีกิน หวังว่าการทำปลากะพงขาวรมควันทะเลสาบสงขลา จะสามารถสร้างหนือพัฒนาคุณค่าความเป็นมนุษย์ให้กับตัวเองและผู้อื่นได้

คุณอากฤษฎิ์ ศศิอังกูร
เจ้าของผลิตภัณฑ์ปลากะพงขาวรมควันทะเลสาบสงขลา Arkrit Farm
และศิษย์เก่า คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ทั้งนี้ยังมีคุณอนุสรณ์ จันทมุณี เชฟผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ปลากะพงขาวทะเลสาบสงขลารมควัน เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมนูอาหารจากปลากะพงฯ เพราะสิ่งที่อยู่ในเมนูเหล่านั้นไม่ใช่เพียงสิ่งที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่าทางโภชนการเท่านั้น แต่เป็นการช่วยเพิ่มรายได้และประสิทธิภาพในการสร้างผลผลิตของเกษตรกรรายย่อยอีกด้วย