สำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม ม.สงขลานครินทร์ ผนึกความร่วมมือกับหน่วยงานพื้นที่จัดประกวดทุเรียนพื้นบ้าน เก็บข้อมูลและพัฒนา เพิ่มมูลค่าทุเรียนพันธุ์พื้นบ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

สำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม ม.สงขลานครินทร์ ได้รับงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) ทำโครงการวิจัย สำรวจ คัดเลือกและศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมทุเรียนพื้นบ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป้าหมายเพื่อค้นหา เก็บข้อมูล พัฒนาคุณภาพและช่องทางการตลาดของทุเรียนพื้นบ้านภาคใต้ โดยเฉพาะเฟ้นหาทุเรียนที่มีศักยภาพเทียบเท่าหรือมากกว่าทุเรียนดัง “มูซานคิง”

ผศ.ดร.นิเวศน์  อรุณเบิกฟ้า รักษาการแทนรองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม ม.อ.อธิบายถึงเป้าหมายสำคัญของโครงการนี้ว่าต้องการค้นหาทุเรียนพื้นบ้านซึ่งมี 1000 กว่าสายพันธุ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ทุเรียนของภาคใต้มี 1,000 กว่าสายพันธุ์ เราจะทำยังไงถึงจะคัดสายพันธุ์ที่เด่นขึ้นมา โจทย์ของเราคือทำอย่างไรไม่ให้ทุเรียนเหมือนยางพาราที่ปลูกมากแล้วเจอภาวะราคาตกต่ำ เพราะตอนนี้ทุเรียนปลูกกันทั่วประเทศโดยเฉพาะหมอนทองหรือก้านยาว โจทย์ที่สองคือมาเลเซียมีทุเรียนที่ขึ้นชื่อมาก เป็นทุเรียนพื้นบ้านคือมูซานคิง แล้วก็โอวฉี มูซานคิงหรือมุสังกิน เป็นทุเรียนที่อร่อยมาก ขนาดผลพอเหมาะ เนื้อเหลืองละเอียด ไม่เป็นกากใย เราต้องหาทุเรียนพื้นบ้านที่เปรียบเทียบกับมูซานคิง เพราะปัจจุบันมูซานคิงไปโด่งดังที่จีน ราคาขายกิโลละ 500 หรืออาจถึง 800 บาท โครงการเราเลยต้องการหาทุเรียนพื้นบ้านที่เทียบเท่าหรือเหนือกว่ามูซานคิง

ผศ.ดร.นิเวศน์  อรุณเบิกฟ้า
รักษาการแทนรองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม ม.อ.

การค้นหาทุเรียนพื้นบ้านของโครงการนี้มีตัวเทียบคือ “มูซานคิง” ต้องการหาพันธุ์ที่มีคุณภาพเหมือนหรือเหนือกว่ามูซานคิง โดยใช้การจัดงานประกวดทุเรียนเป็นเครื่องมือ เมื่อปี 2561 และ 2562 จัดที่อ.สุคีริน จ.นราธิวาส และปี 2563 เพิ่มการจัดประกวดทุเรียนในจังหวัดยะลา 2 อำเภอคือ บันนังสตากับเบตง เมื่อวันที่ 8 และ 10 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ผลของการประกวดทุเรียนใน 2 อำเภอนี้  ปรากฎว่าได้ค้นพบทุเรียนพื้นบ้านที่มีลักษณะเด่นและรสชาติอร่อยมาก

“ วิธีการสำรวจพันธุ์ทุเรียนให้ได้มากที่สุดเป็นเรื่องยากอยู่ เราเลยจัดประกวดทุเรียนโดยให้เกษตรกรนำทุเรียนพื้นบ้านที่ตัวเองมีมาประกวด เวลาที่เราไปจุดประกายเรื่องนี้ เกษตรกรก็บอกว่าทุเรียนบ้านเขามีนะ อร่อย เขาก็เอามาประกวด เราให้เค้าเอามา 2 ลูก ลูกนึงเราเก็บไว้เพื่อศึกษา อีกลูกนึงจะแกะเนื้อดูว่าเม็ดลีบมั้ย เนื้อเหลืองมั้ย ดูลักษณะผล แล้วก็ชิมกันตรงนั้นเลยครับ วิธีการสำรวจโดยการประกวดเป็นเครื่งอมือแล้วเราก็คัดเลือกมีรางวัลที่ 1 ที่ 2 และชมเชย รางวัลชมเชยจะเยอะหน่อย 20 รางวัล”

ดร.นิเวศน์เล่าให้ฟังว่างานประกวดทุเรียนพื้นบ้านที่ จ.ยะลาถือว่าประสบความสำเร็จที่สามารถรวบรวมข้อมูลทุเรียนได้เป็นจำนวนมาก และในเดือนสิงหาคม โครงการมีแผนจะจัดประกวดที่อ.สุคีริน อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส หลังการประกวดเสร็จจะมีนักวิจัยตามไปเก็บข้อมูลทุเรียนที่เจ้าของส่งเข้าประกวดเพื่อเก็บข้อมูลทางพันธุกรรม ชื่อ ลักษณะผล เนื้อ รสชาติ

“ประกวดที่บันนังตาเมื่อวันพุธ ที่แล้ว เราเจอ 2 ต้นที่ถือเป็นคู่เทียบมูซานคิงได้ รสชาติอร่อยมาก  เคยกินไอศครีมมั้ยครับละลายในปากเลย เม็ดลีบ ผลพอเหมาะ พ่อค้าสั่งจองปีต่อปี แต่ราคาขายต่ำมากกิโลละ 30 บาทคือราคาทุเรียนบ้านเลย ซึ่งทุเรียนรสชาติขนาดนี้ต้องขายอย่างน้อย 100 หรือ 200 300 บาทครับ ส่วนอีกลูกก็เม็ดลีบ ลูกสวยมาก เป็นพวง เนื้อไม่แฉะ ส่วนงานประกวดที่เบตงเราพบว่าทุเรียนพื้นบ้านที่นี่มีเนื้อสีขาว รสชาติอร่อยมาก สีขาวครีม ข้น เหมือนนมข้นหวานเรามีการปักหมุดในจีไอเอส เราใช้จีไอเอส มีการเก็บพันธุ์ไม่ว่าตัวใบ ตัวกิ่ง ตัวเนื้อทุเรียนเราเก็บหมด พันธุ์ต่างๆมีชื่อเจ้าของเกษตรคนนั้นว่าเป็นใคร ตั้งอยู่ที่ไหน ประวัติความเป็นมาอย่างไร ทุกอย่งตรวจสอบได้หมด หลังจากข้อมูลทุกประเด็นครบถ้วนเราจะจดลิขสิทธิ์ให้เกษตรกร เพื่อให้เค้าภูมิใจในสิ่งที่เขามี เป็นมูลค่าที่เค้าควรดได้ การขยายพันธุ์ก็จะเริ่มจากพื้นที่ใกล้ๆชุมชนเกษตรกรก่อน เกษตรกรช่วยเกษตรกรก่อนถึงจะยั่งยืน ส่วนนักวิชาการช่วยเสริมความรู้ความเข้าใจ นักวิชาการเกษตรก็ช่วยเรื่ององค์ความรู้ในการดูแลต่างๆ”