จากนโยบายสาธารณะ สู่ยุทธศาสตร์ความยั่งยืนของ “สงขลานครินทร์” และท้องถิ่นภาคใต้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและนโยบายสาธารณะ  กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาและหนทางสู่ความยั่งยืนของมหาวิทยาลัยในอนาคตว่า ได้มีการวางแผนเพื่อการเปลี่ยนแปลงโดยมองยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาภาคใต้ แล้วหากระบวนการเพื่อสร้างคน ความรู้ นวัตกรรมโดยอาศัยความคิดจากนักวิชาการแต่ละคณะและวิชาชีพในมหาวิทยาลัย ให้ทุกภาคส่วนมาช่วยกันกำหนดทิศทางและวิธีการที่เราจะเคลื่อนไปเพื่อให้เรายืนอยู่ได้ในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเป็นหนึ่งใน “นโยบายสาธารณะ” ของมหาวิทยาลัยและเป็นแนวทางพัฒนาประเทศให้สู่ความยั่งยืน

“Public Policy” หรือ”นโยบายสาธารณะ” เริ่มใช้เมื่อปี 2524 จากแนวทางการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติ และ องค์การอนามัยโลก ที่จะใช้ 5 แนวทางในการพัฒนาประเทศให้สู่ความยั่งยืนคือ การพัฒนาศักยภาพคน การสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการทำงานรวมไปถึงวิถีชีวิตเศรษฐกิจระบบการศึกษา การสร้างความเข้มแข็งให้กับการจัดการตัวเอง และการแก้ปัญหาของท้องถิ่นโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การปรับระบบกลไก กระบวนการ ทางสังคม และสุดท้ายคือ ชุมชนต้องมีนโยบายสาธารณะหรือการร่วมกันวางแนวทางในการขับเคลื่อนให้ชุมชนหรือทุกภาคส่วนสามารถกำหนดนโยบายของตนเองได้ ตั้งแต่การวิเคราะห์หานโยบายการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด แล้วนำไปแปลงเป็นแผนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ แล้วประเมินผล เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนเชิงนโยบาย

ในการวางประเด็นยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งเน้นการสร้างคนและสร้างชุดความรู้เพื่อแก้ปัญหา ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาคใต้ เช่น เรื่องเกษตร อาหาร การท่องเที่ยว ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการทรัพยากรชายฝั่ง ทะเลสาบสงขลา การจัดการขยะ การจัดการพลังงาน การพัฒนาศักยภาพบัณฑิต ชุมชนเข้มแข็ง สังคมสูงวัย ได้มีการระดมความคิดจากนักวิชาการทุกกลุ่มเพื่อพิจารณาสถานการณ์แต่ละเรื่อง รวมถึงเป้าหมายที่อยากให้เป็น และแนวทางการดำเนินการ เช่นเดียวกับการหาแนวทางการพัฒนาและการหาหนทางสู่ความยั่งยืนของมหาวิทยาลัย

ในอนาคต ซึ่งมีแนวโน้มว่ามหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องพึ่งตัวเอง การสนับสนับสนุนจากรัฐจะน้อยลงเรื่อยๆ มหาวิทยาลัยจะอยู่ไม่ได้หากขาดความมั่นคงในด้านการเงิน จำนวนนักศึกษาลดลงทำให้รายได้จากค่าลงทะเบียนลดลง ต้องสร้างเสถียรภาพด้านการเงินที่เกิดจากการมีชุดความรู้และนวัตกรรม การร่วมลงทุนกับภาคส่วนอื่นๆ ทุกคณะทุกส่วนงานจะต้องคิดว่าจะพึ่งตนเองอย่าง ไร และจะช่วยมหาวิทยาลัยอย่างไร

ในการพัฒนามหาวิทยาลัยสู่ความยั่งยืน หน่วยงานภายในจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เช่น เปลี่ยนโครงสร้างภายใน เปลี่ยนบทบาททิศทางการทำงานเพื่ออนาคต ซึ่งที่ผ่านมามีการเปลี่ยนชื่อ ยุบ และควบรวมหน่วยงาน เพื่อการบรรลุเป้าหมาย เช่น การมี “สถาบันสาธารณะ” ซึ่งเปลี่ยนชื่อและปรับเพิ่มภาระกิจจาก “สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขภาคใต้” เพื่อรับผิดชอบเรื่องนโยบายสาธารณะ การควบรวม ”สถาบันสันติศึกษา” วิทยาเขตหาดใหญ่กับ “สถาบันวิจัยความขัดแย้ง” วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งทำงานคล้ายกันเพื่อการเสริมพลังให้เข้มแข็งขึ้น การควบรวม “สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา” วิทยาเขตปัตตานีกับ “ศูนย์ส่งเสริมศิลปและวัฒนธรรม” วิทยาเขตหาดใหญ่ เพื่อเสริมภาระกิจด้านการส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม และมีนักวิชาการระดับโลกมาทำงานเพื่อผลักดันภาระกิจสู่ระดับนานาชาติ  และการระดมคณะหน่วยงานต่างๆ ที่มีความรู้ทางสาขาวิชาการที่ใกล้เคียงกันมาเสริมศักยภาพของ “สถาบันฮาลาล” เป็นต้น