อาจารย์มนัส กันตวิรุฒ ผู้อำนวยการหอประวัติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เล่าในรายการ PSU All ถึงส่วนหนึ่งของความประทับใจต่อครูพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล) ปี 2560 ที่ได้จากวงการเพลงไปเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2563 ในวัย 83 ปี ท่านเป็นชาวจังหวัดนราธิวาส ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้สร้างผลงานในวงการบันเทิงมามากมาย จนได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติระดับชาติแล้ว ยังเป็นผู้มีผลงานในการเรียบเรียงเสียงประสานเพลงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จำนวน 20 เพลงในช่วงเวลาต่างๆ โดยบางเพลงท่านได้เป็นผู้ประพันธ์คำร้องทำนองด้วย
ในหลายยุคของการจัดทำเพลงประจำมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2513 ครูพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์ ได้เข้ามามีส่วนในการจัดทำเพลงประจำมหาวิทยาลัยในยุคที่ 2 ในปี 2526 เมื่ออาจารย์มนัส กันตวิรุฒ เป็นนายกสโมสรอาจารย์และข้าราชการ และอาจารย์ประสาท มีแต้ม เป็นนายกสมาคมนักศึกษาเก่า มีการนำเพลง 6 เพลง ที่ประพันธ์คำร้องโดยคณาจารย์และนักศึกษา และได้ถ่ายทอดบรรยากาศและความประทับใจของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์อย่างแท้จริง คือ “ร่มศรีตรัง” “ลาร่มศรีตรัง” “ยังไม่ลืมศรีตรัง” “พลิ้วศรีตรัง” “ทะเลสีบลู” และ “แดนสรวง” นำไปบันทึกเสียง มีครูพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์ เป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสาน บันทึกในเทปคาสเซ็ท โดยนำเพลง 4 เพลงในยุคแรก“เขตรั้วสีบลู” “สงขลานครินทร์” “ถิ่นศรีตรัง” และ “รำวงน้องก็อีกราย” ซึ่งจัดทำโดยวงสุนทราภรณ์ บันทึกเข้าไปด้วย
เมื่อเวลาผ่านไป จนถึงปี 2545 ได้มีการจัดทำเพลงชุดที่ 3 ซึ่งมีจำนวน 20 เพลง บันทึกไว้ในแผ่นซีดี ซึ่งเพลงเอกประจำชุดซึ่งมีความไพเราะมาก คือ “ตามรอยพระยุคลบาท” ผู้แต่งคือ ครูชาลี อินทรวิจิตร ศิลปินแห่งชาติ เรียบเรียงเสียงประสานโดยครูพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์ และขับร้องโดย สุเทพ วงศ์กำแหง
นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยยังมีการจัดทำเพลงชุดพิเศษ ในโอกาสการสถาปนาครบรอบ 40 ปี 45 ปี และ 50 ปี คือ “ม.อ.ใต้ร่มพระบารมี” ขับร้องโดย ปาน ธนพร “ประโยชน์เพื่อนมนุษย์เป็นที่หนึ่ง” ขับร้องและบรรเลงเปียโนโดยโต๋ ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร การจัดทำ ซึ่งเพลงชุดนี้มีการจัดหานักร้องที่ทันสมัยมีชื่อเสียงเหมาะกับวัยของนักศึกษาในยุคนั้น การจัดทำมิวสิควิดีโอเพลงมหาวิทยาลัย ชื่อชุด “เทิดทูนถิ่นที่รักเป็นหลักชัย” และล่าสุดคือเพลง คือ “จะกอดความดีไว้ในใจนิรันดร์” ซึ่ง ความพิเศษของชุดนี้คือเป็นเพลงที่มีเป็นนำนักร้อง 3 แนวมาร้องเพลงร่วมกันอย่างกลมกลืนเพื่อความยิ่งใหญ่ คือ ปาน ธนพร กันต์ เดอะสตาร์ และ แก้มเดอะสตาร์ ทั้งหมดนี้ ด้วยฝีมือการเรียบเรียงเสียงประสานของครูพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์
“ผมเป็นเพียงแต่ชอบฟังเพลงแต่ไม่เคยร้องเพลงหรือเล่นดนตรีมาก่อน ก่อนหน้าที่จะได้ทำงานร่วมกัน ได้เคยพบกับครูพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์ ในโอกาสการสังสรรค์ในกลุ่มนักร้องนักดนตรี มาสัมผัสและได้ร่วมงานกับครูพิมพ์ อย่างจริงจังเมื่อมีการจัดทำเพลงประจำมหาวิทยาลัยในยุคที่ 2 ทำให้ได้ทราบว่าท่านเป็นผู้ที่ตั้งใจทำงานให้ดีที่สุด ท่านได้สร้างสรรค์ท่วงทำนองและใส่เสียงดนตรีประกอบด้วยความตั้งใจ เพื่อให้เพลงมหาวิทยาลัยมีชีวิตชีวามากขึ้น” ผู้อำนวยการหอประวัติมหาวิทยาลัย กล่าวความรู้สึก