จากปัญหาขยะที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ประเภทพลาสติก และกล่องอาหารพร้อมทานที่ซื้อจากร้านสะดวกซื้อ ถึงแม้บรรจุภัณฑ์บางชนิดสามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ แต่ก็ใช้เวลานานจนทำให้เกิดการกำจัดขยะอย่างผิดวิธีเช่นการเผาจนเกิดปัญหามลภาวะเป็นพิษ คณะนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงเข้ามามีส่วนร่วมในการลดใช้ Single use plastic โดยการนำโจทย์ปัญหาจากชุมชนมาแก้ไขและต่อยอดเป็นนวัตกรรมจานจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร มีส่วนช่วยในการรักษาสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมภูมิปัญญาจากชุมชน
ผศ.ดร.จุฑารัตน์ เอี้ยวกฤตยากร อาจารย์ประจำหลักสูตรเทคโนโลยีชีวภาพ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับโจทย์จากจังหวัดพัทลุงในการนำใบสับปะรดมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์จาน โดยทำการเคลือบสารจากธรรมชาติและไคโตซานที่ช่วยในการเพิ่มเส้นใยที่ทำหน้าที่ดูดซับน้ำ เพื่อให้จานมีความคงทนต่อน้ำ ไม่มีความเปื่อยแฉะ ใช้งานได้จริง มีต้นทุนต่ำ และยังสามารถย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติในระยะเวลาเพียง 45 วัน
นวัตกรรมดังกล่าวมีการนำความรู้จากวิทยาศาสตร์มาใช้ในการแก้ปัญหาของเสีย และการศึกษาคุณสมบัติของใบสับปะรดที่มีเซลลูโลส ซึ่งมีลักษณะเป็นของแข็ง ไม่มีกลิ่นและไม่ละลายในน้ำ เป็นองค์ประกอบสำคัญในผนังเซลล์ของพืชจึงทำให้สามารถขึ้นรูปเป็นภาชนะต่างๆได้
นวัตกรรม Green plate จานจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เป็นโมเดลภาชนะทางเลือกที่ช่วยเพิ่มมูลค่าขยะทางการเกษตร เป็นการสร้างงานสร้างรายได้แก่ชุมชน ช่วยลดขยะประเภทกล่องโฟม ถุงและภาชนะพลาสติกอีกหลายชนิด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดภาวะโลกร้อนได้ อีกทั้งยังสามารถควบคุมความสะอาดในกระบวนการผลิตให้ปลอดจากจุลินทรีย์ก่อโรค มีกระบวนการขึ้นรูปภาชนะที่ไม่ซับซ้อน และยังสามารถต่อยอดในระดับอุตสาหกรรมได้อีกด้วย
จุดเด่นของจานสับปะรดคือมีความคงทนต่อน้ำสามารถใส่อาหารเปียกได้