ม.สงขลานครินทร์ แก้ปัญหาโรคลำต้นเน่าในต้นปาล์มแก่เกษตรภาคใต้

การระบาดของโรคลำต้นเน่าในต้นปาล์ม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อกาโนเดอร์มาร์ หรือโรคโคนเน่า ของชาวสวนปาล์มในเขตจังหวัดภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช กระบี่ สุุราษฏร์ธานี ตรัง และสตูล ก่อความเสียหายแก่สวนปาล์ม ถึงจุดวิกฤต   ศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชชีวินทรีย์แห่งชาติ ภาคใต้ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา   จึงได้ทำการศึกษาและคิดค้นชีวภัณฑ์ เพื่อแก้ปัญหาโรคลำต้นเน่า และชีวภัณฑ์สำหรับเสริมสร้างการเจริญเติบโตของรากปาล์ม   และเผยแพร่แก่เกษตรกรภาคใต้ ทำให้สวนปาล์มสามารถกลับมาให้ผลผลิตได้ดังเดิม

รศ.ดร.อัจฉรา เพ็งหนู ผู้อำนวยศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชชีวินทรีย์แห่งชาติ ภาคใต้ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  เปิดเผยว่า ได้ศึกษาการนำเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ที่สามารถควบคุมเชื้อราในดินที่เข้าทำลายรากจนเป็นสาเหตุโรคลำต้นเน่า  ซึ่งเกิดจากเชื้อกาโนเดอร์มา(Garnoderma Boninense) หรือโรคลำต้นเน่า จนปัจจุบันพัฒนาเป็นชีวภัณฑ์แกรนูลพร้อมใช้ 2 สูตร คือ ชีวภัณฑ์ B-Palm1  สำหรับควบคุมโรคลำต้นเน่า และชีวภัณฑ์ B-Palm 2  สำหรับเสริมสร้างการเจริญเติบโตของรากด้วย โดยใช้ชีวภัณฑ์ B-Palm1  ฉีดเข้าลำต้นที่เป็นโรค ประมาณ 1 เดือน ดอกเห็ดของเชื้อราลดลง และใช้ชีวภัณฑ์ B-Palm 2  กระตุ้นการเจริญเติบโตของราก จะมีรากใหม่งอกเพิ่มขึ้น สามารถกลับมาให้ผลผลิตได้

ดร.กลอยใจ สำเร็จวาณิชย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  พร้อมด้วยทีมงานของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประกอบด้วย  รศ.ดร.อัจฉรา เพ็งหนู     ดร.จุฑามาศ แก้วมโน นักวิจัย และอาจารย์ธีระพงศ์ จันทรนิยม ที่ปรึกษาของสถาบันวิจัยและนวัตกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์   ได้ให้ความรู้นำเทคโนโลยี และชีวภัณฑ์ ถ่ายทอดให้โดยเกษตรกรที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี     ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกสวนปาล์มมากถึง 25% ของประเทศ

โดยจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การจัดการสวนปาล์มน้ำมันเพื่อควบคุมโรคลำต้นเน่าโดยชีววิธี” โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้แก่เกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ตำบลท่าสะท้อน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ตาปี-อิปัน ผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน  อำเภอพระแสง  จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 22-23 กันยายน 2563 เพื่อให้ผู้แทนกลุ่มละประมาณ 50 คน ได้รับความรู้เรื่อง ลักษณะการเข้าทำลายของโรคลำต้นเน่า เนื่องจากเกษตรกรยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเกิดโรค การทำลายเชื้อโรคไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเป็นส่วนใหญ่ และยังไม่มีวิธีที่จะทำลายเชื้อ ทำให้เกิดความเสียหายไม่ต่ำกว่า 40-50 % และผลผลิตลดลงเกินกว่า 50%  เกษตรกรในแต่ละกลุ่มมีจำนวนเกือบ 300 ราย ในพื้นที่สวนปาล์มกว่า 10,000 ไร่

อาจารย์ธีระพงศ์ จันทรนิยม นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยนวัตกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ได้แนะนำให้เกษตรกร รู้จักลักษณะเห็ด จากเชื้อการ์โนเดอมา ลักษณะอาการผิดปกติของต้นปาล์ม หลังจากนั้น ก็สอนวิธีการรักษา วิธีการใช้ชีวภัณฑ์ หากดูแลรักษาดี อายุของต้นปาล์มจะยาว แต่ถ้าปล่อยให้มีดอกเห็ดออกอย่างต่อเนื่อง เกิดการเข้าทำลายต้นจนกลวงแล้วต้นก็ล้มไปในที่สุด ซึ่งปัจจัยที่ส่งเสริมให้การแพร่ระบาดรุนแรงมีหลายปัจจัย ทั้งการจัดการสวน การจัดการดินและธาตุอาหาร  และสภาพแวดล้อม   ตอนนี้การระบาดถึงจุดวิกฤต เริ่มมีผลต่อเศรษฐกิจของการผลิตปาล์มน้ำมัน และหากไม่แก้ไข จะสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับปาล์มน้ำมันทั้งระบบ

ทั้งนี้เกษตรกรและบริษัท ที่ได้รับความเสียหายหรือผลกระทบจากกาโนเดอร์มา หรือหน่วยงานอื่นๆที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 025612445 หรือ สถาบันวิจัยและนวัตกรรมปาล์มฯมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โทรศัพท์ 0-7428-9380 หรือ e-mail: oppori.psu@gmail.com