ปัจจุบันคำว่า Bully (บูลลี่) เริ่มปรากฏตามสื่อต่าง ๆ มากขึ้น เนื่องจากสังคมเริ่มตื่นตัวกับเรื่องการกลั่นแกล้ง ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมที่มักเกิดขึ้นกับเด็กที่ถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนที่โรงเรียน จากที่ทำงาน ในสังคม หรือแม้กระทั่งในโลกออนไลน์ ฉะนั้นบูลลี่ไม่ใช่เรื่องเล็กอีกต่อไป และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นในสังคมไทย
“จากสถิติพบว่าประเทศไทยพบว่า มีเด็กถูกรังแกในสถานศึกษาปีละประมาณ 6 แสนคน ติดอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศญี่ปุ่น Bully (บูลลี่) คือ พฤติกรรมกลั่นแกล้งรังแกผู้อื่น โดยเฉพาะคนที่อ่อนแอกว่าและมักเกิดขึ้นในโรงเรียนเกือบทั่วโลก การถูกบูลลี่ ไม่ใช่เรื่องปกติ ดังนั้นจึงต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก และสามารถส่งผลกระทบต่อจิตใจของคนที่ถูกบูลลี่ได้ในระยะยาว หรือมีปัญหาในการเข้าสังคมในที่สุด”
ในสังคมเราจะเห็นว่ามีการบบูลลี่กันหลายเรื่อง เช่น รูปร่างหน้าตา สีผิว รสนิยม เชื้อชาติ ศาสนา ค่านิยม อายุ ทัศนคติหรือสถานะทางสังคม ซึ่งปัจจุบันทางกรมสุขภาพจิตได้แบ่งประเภทของการบูลลี่ออกเป็น 4 ประเภทหลักๆ
– บูลลี่ทางร่างกาย เป็นการทำร้ายร่างกายอีกฝ่ายให้เกิดการบาดเจ็บ มีบาดแผล ซึ่งสามารถมองเห็นได้จากภายนอก บางกรณีอาจส่งผลต่อจิตใจอีกด้วย
– บูลลี่ทางวาจา แม้ไม่มีบาดแผลทางกายให้เห็น แต่การพูดส่อเสียด ล้อเลียน ใส่ร้าย การประจานด้วยคำพูดให้ผู้อื่นได้ยิน นอกจากจะสร้างความอับอาย วิตกกังวล อาจสร้างความเครียด เก็บกด ส่งผลถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า หรือหวาดกลัวสังคม ถือเป็นบาดแผลทางใจที่เจ็บปวดไม่น้อย
– บูลลี่ทางสังคม เป็นการสร้างกระแสสังคมรอบข้างให้โหมกระหน่ำมายังเหยื่อของการบูลลี่ เสมือนการยืมมือคนรอบข้างให้ร่วมกันทำร้ายบุคคลเพียงคนเดียว เช่น การปล่อยคลิปของเหยื่อ หรือการสร้างข่าวลือ จนผู้เสพหลงเชื่อและพร้อมจะแชร์และกระพือข่าวให้ไปในวงกว้างขึ้น จนกว่าผู้ถูกกระทำไม่มีที่ยืนทางสังคม
– ไซเบอร์บูลลี่ (Cyberbullying) เป็นการกลั่นแกล้งกันผ่านโลกออนไลน์และเป็นการกระทำที่แพร่หลายมากในปัจจุบัน เช่น การโพสข้อความโจมตีบนสื่อเฟซบุ๊ก การหลอกลวง การส่งข้อความคุกคามทางเพศ ใช้ถ้อยคำหยาบคายจนทำให้อีกฝ่ายอับอายและรู้สึกเจ็บปวด
รู้หรือไม่? ในบางสถานการณ์การกลั่นแกล้งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย หากว่าผู้ถูกกระทำถูกกลั่นแกล้งทางร่างกายหรือทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำพูด เชื้อชาติหรือเพศสภาพ ใช้กำลังและความรุนแรงรังแกผู้อื่น หรือแม้แต่การแชร์เรื่องส่วนตัวของผู้อื่นในอินเทอร์เน็ต เช่น ปล่อยคลิป หรือการสร้างข่าวลือ ล้วนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งสิ้น สามารถรายงานเรื่องนี้ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการตามกฎหมายได้ ตามความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 293 ผู้ใดช่วยหรือยุยงเด็กอายุยังไม่เกิน 16 ปีที่ไม่สามารถเข้าใจว่าการกระทำของตนมีสภาพหรือสาระสำคัญอย่างไร หรือทำให้ตนเองดูด้อยค่า จนไปถึงการฆ่าตัวตาย มีโทษต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และตามมาตรา 14 (4) ของ พ.ร.บ. คอม นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูล คอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ มีความผิดสูงสุด ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ