ม.อ. ร่วม กสศ. และภาคี พัฒนาครู – โรงเรียน ยกระดับคุณภาพการศึกษา

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัย จัดการประชุมเรื่อง “ยกระดับคุณภาพโรงเรียน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ : ภาคใต้” เดินหน้าพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2563 ที่ โรงแรมคริสตัล หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุม เรื่อง “ยกระดับคุณภาพโรงเรียน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ : ภาคใต้” พร้อมด้วย ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อํานวยการสํานักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ. ผศ.ดร.นิเวศน์ อรุณเบิกฟ้า รองอำนวยการสำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีผู้เข้าประชุมรวมทั้งสิ้น 450 คน

สำหรับการประชุม เรื่อง “ยกระดับคุณภาพโรงเรียน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ : ภาคใต้” จัดขึ้นโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา ซึ่งได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต ซึ่งเป็นเวทีสนับสนุนการดำเนินงานโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาโรงเรียนประถมศึกษาขนาดกลาง ให้เป็นโรงเรียนที่สามารถพัฒนาคุณภาพต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ ทั้งด้านการบริหารจัดการโรงเรียน และการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ระดับชั้นเรียน เพื่อให้นักเรียนโดยเฉพาะเด็กด้อยโอกาสได้รับการดูแลและพัฒนาเต็มตามศักยภาพ และมีทักษะการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21

ทั้งเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานตามกรอบแนวคิดของโครงการฯ และการนำระบบสารสนเทศ มาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา ให้แก่โรงเรียนเป้าหมายรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 และหน่วยงานต้นสังกัดในพื้นที่โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นหนึ่งในเครือข่ายภาคีที่ดำเนินงานในภาคใต้ ซึ่งรับผิดชอบเป็นโค้ชให้โรงเรียน จำนวน 98 โรงเรียน (รุ่นที่ 1 จำนวน 20 โรงเรียน และรุ่นที่ 2 จำนวน 78 โรงเรียน) ใน 6 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (19 โรงเรียน) สตูล (10 โรงเรียน) สงขลา (34 โรงเรียน) ปัตตานี (18 โรงเรียน) ยะลา (7 โรงเรียน) และนราธิวาส (10 โรงเรียน)

โดยมุ่งขับเคลื่อนการดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้โรงเรียนเป้าหมายมีการพัฒนาตนเองทั้งระบบโรงเรียน (Whole School Approach) ทั้งด้านการบริหารจัดการโรงเรียนที่ครอบคลุมทุกองค์ประกอบ ด้านการพัฒนาการจัดการเรียนการสอน ประกอบด้วย การกำหนดเป้าหมายโรงเรียนมีเป้าหมาย (School Goal) มีแผนในการพัฒนาที่ท้าทายและชัดเจน (High Expectation) การมีระบบสารสนเทศ การพัฒนาครูด้วยชุมชนเรียนรู้เพื่อพัฒนาวิชาชีพ (Professional Learning Community : PLC) ซึ่งผู้บริหารครูในโรงเรียนเป้าหมายได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และด้านการจัดการเรียนการสอนแบบ Active learning เพื่อให้นักเรียนเกิดทักษะการเรียนรู้สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น รวมทั้งได้รับการดูแลช่วยเหลือและพัฒนาเต็มตามศักยภาพและปลอดภัยรวมทั้งการพัฒนาโรงเรียนเป้าหมายให้มีเครือข่ายในการพัฒนาโรงเรียนร่วมกับภาคีเครือข่ายอื่นๆ อีกด้วย