การดูแลสุขภาพในช่วงถือศีลอด “เดือนรอมฎอน”

แพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ แนะนำสำหรับผู้ที่ถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอน สำหรับการรับประทานอาหารตามช่วงเวลาที่กำหนด ว่าควรรับประทานอาหารสุกใหม่ๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด หวานจัด มันจัด โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง

เดือนรอมฎอนหรือช่วงถือศีลอด เป็นช่วงที่ชาวไทยมุสลิมได้ปฏิบัติตามศาสนบัญญัติ ซึ่งตามความหมายของศาสนาของอิสลาม คือ การงดเว้นการรับประทานอาหาร เครื่องดื่มทุกชนิด รวมไปถึงงดการกระทำที่ไม่เกิดประโยชน์  หรือการกระทำที่ขัดกับคุณธรรม ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงดวงอาทิตย์ตก ต่อเนื่องเป็นเวลา 1 เดือน ดังนั้นเพื่อเป็นการดูแลสุขภาพ ป้องกันโรคและป้องกันการเจ็บป่วยที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมทั้งป้องกันผลกระทบต่อการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติ พญ.กัญญาพิมพ์ สะแอะ แพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ได้แนะนำข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพระหว่างการถือศีลอด ดังนี้

  • อาหารมื้อเช้าและอาหารมื้อเย็น ควรเริ่มด้วยอาหารเหลวย่อยง่าย เช่น น้ำหวาน น้ำผลไม้ หรือ ผลไม้ เพื่อให้กระเพาะได้ปรับตัว หลีกเลี่ยงอาหารที่ย่อยยากเพราะจะทำให้กระเพาะอาหารทำงานหนักมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด เพราะจะทำให้กระหายน้ำได้ระหว่างการถือศีลอดในตอนกลางวัน
  • อาหารมื้อเย็น ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารมากเกินไป การรับประทานอาหารอย่างรวดเร็ว อาจเกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และอาการกรดไหลย้อน
  • หลีกเลี่ยงการนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร ควรเว้นอย่างน้อย 2-4 ชั่วโมง
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสจัดทั้งประเภทหวาน มัน เค็ม อาหารที่มีไขมันสูง

รับประทานอาหารสุกใหม่ ๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด หวานจัด มันจัด ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น แกงกะทิ อาหารที่มีน้ำตาล เช่น ของหวาน ข้าวขัดสี ควรทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีต ผัก ผลไม้ เพราะจะช่วยให้อิ่มทนนาน ระดับน้ำตาลไม่สูงมาก รวมถึงงดน้ำดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน

พญ.กัญญาพิมพ์ สะแอะ
แพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์

สำหรับผู้ป่วยที่ต้องกินยาในระหว่างเดือนรอมฎอน จำเป็นต้องปรับยาบางมื้อให้เข้ากับจำนวนมื้อและเวลาอาหารที่เปลี่ยนไป เช่น ยาทั่วไปที่กินวันละ 1-2 ครั้ง ในช่วงก่อนหรือหลังอาหารมื้อเช้า ให้มากินก่อนหรือหลังอาหารซาฮูร ยาที่กินในช่วงก่อนหรือหลังอาหารมื้อเย็นให้กินก่อนหรือหลังละศีลอด โดยยาที่กินก่อนอาหารเย็นสามารถรับประทานร่วมกับการละศีลอดด้วยอินทผาลัมและน้ำได้ จากนั้นจึงไปละหมาดแล้วกลับมารับประทานอาหารเย็นตามปกติ สำหรับยาที่รับประทานวันละ 3 ครั้ง แพทย์จะทำการดูประวัติว่ายาที่ใช้อยู่เป็นยาที่รักษาตามอาการ หรือยารักษาตามโรคที่ไม่สามารถหยุดได้ ถ้าเป็นยารักษาตามอาการก็สามารถงดมื้อเที่ยงได้ และรับประทานเฉพาะมื้อเช้ากับมื้อเย็น แต่หากเป็นยารักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนไม่ควรงดเองเพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อการรักษาในอนาคต

“คนที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมัน ที่ต้องทานยาเป็นประจำ จำเป็นต้องปรึกษาคุณหมอเจ้าของไข้เพราะในบางรายต้องมีการปรับยาบางมื้อเพื่อให้เข้ากับจำนวนมื้อและเวลาอาหารที่เปลี่ยนไป โดยที่ไม่งดยาเพราะจะทำให้มีผลกระทบต่อการควบคุมโรคประจำตัวได้ ส่วนยาประเภทอื่นๆ เช่น ยาหยอดตา ยาหยอดหู หรือยาทาภายนอกก็สามารถใช้ได้ตามปกติ

นอกจากนี้ ต้องให้ความสำคัญเรื่องความสะอาดทั้งอาหาร น้ำ และเครื่องดื่มต่างๆ เพื่อป้องกันโรคติดต่อระบบทางเดินอาหารที่อาจจะเกิดขึ้น ปฏิบัติตามมาตรการ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” อย่างสม่ำเสมอ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *