ส่วนขยายโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (SCCC) หรือโรงพยาบาลสนาม ม.อ. ตั้งอยู่ภายในศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ : องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และศูนย์บ่มเพาะคนดี มูลนิธิสวนประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จ.สงขลา สามารถรองรับผู้ป่วยโควิด – 19 ที่มีอาการเล็กน้อยหรือไม่แสดงอาการ ภายใต้การดูแลของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลสงขลานครินทร์
กระทรวงสาธารณสุข รายงานข้อมูลโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 หรือ โควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว และผู้ที่ติดเชื้อส่วนหนึ่งจะเป็นผู้แพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น ทั้งที่ยังไม่มีอาการ แต่ต้องกักตัวอย่างน้อย 14 วัน เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยที่มีเชื้อโควิด-19 มีโอกาสแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น ทั้งนี้ส่วนขยายโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (SCCC) หรือโรงพยาบาลสนาม ม.อ. จะเป็นที่พักรักษาและสังเกตอาการสำหรับผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง หรือไม่มีอาการ ซึ่งผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองได้ โดยพื้นที่ของส่วนขยายโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้มีการแยกโซนต่างๆไว้อย่างชัดเจน นับตั้งแต่ส่วนของศูนย์บัญชาการ ที่คอยทำหน้าที่ประสานงาน ลงทะเบียน จัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่สัมผัสกับผู้ป่วย ส่วนที่ 2 คือส่วนติดต่อประสานงาน จะเป็นพื้นที่การทำงานของแพทย์และพยาบาลในการดูแลผู้ป่วย ติดต่อกับผู้ป่วยผ่านกล้อง และรายงานผล ส่วนที่ 3 คือ ส่วนพักฟื้นผู้ป่วย มีการจัดห้องพักให้โล่งโปร่ง อากาศไหลเวียนดี สามารถทำความสะอาดได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีการแยกโซนสะอาดและโซนติดเชื้อไว้อย่างชัดเจน รวมถึงระบบบำบัดน้ำเสียที่ได้มาตรฐานของโรงพยาบาล และสำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพระดับน้อย จะส่งไปรักษาในโรงพยาบาลระดับชุมชน ส่วนผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพในระดับค่อนข้างหนัก ก็จะส่งไปยังโรงพยาบาลหลัก เช่น โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลหาดใหญ่ โรงพยาบาลสงขลา เป็นต้น
เนื่องจากการระบาดครั้งนี้ไม่เหมือนรอบที่ผ่านมา ผู้ป่วยบางรายไม่มีอาการแต่ปอดไม่ปกติ และอาการทรุดเร็วมาก ระหว่างที่พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสนาม ผู้ป่วยต้องดูแลตัวเองโดยการใส่แมส รักษาระยะห่างระหว่างกัน และล้างมือบ่อยๆ โดยจะมี SWAP เพื่อการวินิจฉัยหลังจากนั้นจะมี X-ray ปอดเป็นระยะๆ 5-7 วัน/ครั้ง ซึ่งโรงพยาบาลสนามจะใช้หลักการเดียวกันทั่วประเทศ คือ ผู้ป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลสนาม 14 วัน จากนั้นเมื่อกลับบ้านไปก็จำเป็นต้องกักตัวต่ออีก 14 วัน สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าหลังจากออกจากโรงพยาบาลสนามแล้ว ก็ยังต้องดูแลสังเกตอาการตัวเองอีก
รศ.พญ.มณฑิรา ตัณฑนุช
ผู้บัญชาการส่วนขยายโรงพยาบาลสงขลานครินทร์
นอกจากนี้ทางคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีการวางแผนร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา (สสจ.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวมถึงโรงพยาบาลรัฐและเอกชนในพื้นที่จังหวัดสงขลา เพื่อจัดเตรียมพื้นที่ภายในศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ให้เป็นโรงพยาบาลสนามอีกแห่งหนึ่ง เพื่อรองรับผู้ป่วยจากพื้นที่ต่างๆในจังหวัดสงขลา ที่สามารถรับผู้ป่วยได้ประมาณ 200 เตียง (ขยายได้ 500-700 เตียง) ซึ่งคาดว่าจะพร้อมเปิดใช้ได้ภายใน วันที่ 23 เมษายน 2564 นี้ หากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น
รับฟังสัมภาษณ์ รศ.พญ.มณฑิรา ตัณฑนุช ผู้บัญชาการส่วนขยายโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้ที่ ||