การเข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตามแผนการฉีดวัคซีนของประเทศไทย จะเริ่มฉีดวัคซีนระยะที่ 2 ในกลุ่มผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) และกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเสี่ยง เพื่อช่วยลดความรุนแรงของการป่วยหากติดเชื้อ ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับสังคมไทย โดยทางโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้วางแนวทางสำหรับการจัดการระบบการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นที่เรียบร้อย โดยเน้นย้ำสำหรับผู้ลงทะเบียนผ่าน “หมอพร้อม” ที่แจ้งความประสงค์รับวัคซีนที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สามารถเข้ารับวัคซีนได้ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป ตามวันและเวลานัดในระบบหมอพร้อม ณ ศูนย์กีฬา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
นพ.อรุณธร พิเชฐชัยยุทธ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโรงพยาบาลสงขลานคริทร์ กล่าวว่า โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จะเริ่มทำการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 พร้อมกันกับโรงพยาบาลทั่วประเทศในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดความแออัดในสถานพยาบาล จึงได้ประสานงานความร่วมมือขอใช้พื้นที่ศูนย์กีฬามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นสถานที่สำหรับฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อม และประสงค์เข้ารับวัคซีนที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ในครั้งนี้เป็นการฉีดวัคซีนแก่กลุ่มผู้สูงอายุ (อายุ60ปีขึ้นไป) และกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเสี่ยง ซึ่งจากการวางแผนและคาดการณ์จะทำการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 600คน/วัน แต่ด้วยการจัดการอย่างเป็นระบบในอนาคตสามารถขยายจำนวนได้มากที่สุด 2,000 คน/วัน ในกรณีที่ได้รับการจัดสรรโควต้าวัคซีนจากส่วนกลางมากขึ้น
ผู้เข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ต้องเตรียมร่างกายให้พร้อมโดยการพักผ่อนให้เพียงพอ เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายใน 1-2 วันก่อนเข้ารับวัคซีนงดออกกำลังกายหนักๆ และดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อย 500 มล. หากมีไข้ไม่สบายให้แจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนฉีดวัคซีน บุคคลที่ต้องทานยาประจำตัวสามารถทานได้ตามปกติ แต่หากมีตัวยาที่ส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือดต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ เพื่อทำการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
นพ.อรุณธร พิเชฐชัยยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากท่านใดได้รับวัคซีนวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ หรือวัคซีนอื่นๆ แนะนำให้เว้นห่างอย่างน้อย 1 เดือน กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ที่แพทย์มีการประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ สามารถเข้ารับวัคซีนได้ ส่วนหญิงที่มีประจำเดือนก็สามารถฉีดวัคซีนได้เช่นกัน ที่สำคัญขอความร่วมมือผู้เข้ารับวัคซีนให้แจ้งข้อมูลตามความเป็นจริง ไม่ปกปิดข้อมูลใดๆ ก่อนการเข้ารับวัคซีนป้องกันวิด-19 เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้จัดการเฝ้าระวังอย่างถูกต้อง
“ก่อนหน้านี้โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้ทำการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์แล้วประมาณ 5,000 คน พบมีอากาแพ้รุนแรงปริมาณน้อยกว่า 1% มีอาการข้างเคียงประมาณ 1.5% โดยอาการข้างเคียงที่พบจากการฉีดวัคซีนส่วนใหญ่เป็นอาการบวด บวม แดงบริเวณที่ฉีด บางรายอาจจะมีอาการปวดศรีษะ หน้ามืด เป็นลม หรือชาแขนข้างที่ฉีด”
ผู้ที่เข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ต้องเตรียมบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อใช้ยืนยันตัวตน จากนั้นเจ้าหน้าที่จะตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย วัดความดันโลหิต และวัดค่าออกซิเจนในเลือด ซักประวัติเพิ่มเติม ประวัติแพ้ยาและข้อมูลอื่นๆที่จำเป็น จากนั้นเข้ารับการฉีดวัคซีน เมื่อฉีดวันซีนเสร็จแล้วต้องเฝ้าสังเกตอาการ 30 นาที ณ จุดรับบริการ หากไม่พบอาการผิดปกติเจ้าหน้าที่จะออกบัตรนัดเพื่อฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ทั้งนี้เมื่อกลับบ้านอาจมีอาการไม่สบายไม่เกิน 3 วัน เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศรีษะ คลื่นไส้ มีไข้ สามารถรับประทานยาลดไข้/แก้ปวดพาราเซตามอล เพื่อบรรเทาอาการได้ แต่ห้ามรับประทานยากลุ่มแก้ปวดข้อกระดูกทุกชนิด
** หลังฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วมีอาการที่สงสัยว่าเป็นอาการแพ้วัคซีน เช่น ผื่น ลมพิษ ปากบวม ตาบวม หน้ามืด เยื่อบุจมูกอักเสบ อาเจียน ปวดท้อง แน่นหน้าอก หรือไม่แน่ใจว่าเป็นอาการข้างเคียงหรือแพ้วัคซีน สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่
- ศูนย์เภสัชสนเทศ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ 074-451314 (เวลาทำการ 08.30-16.30 น.)
- ห้องยาผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ 074-451303 (เวลาทำการ 08.30-16.30 น.)
- ห้องยาฉุกเฉิน โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ 074-451309 (ตลอด 24 ชั่วโมง)