ทำไมเรื่องสุขภาพจิต (Mental Health) จึงสำคัญกับคนยุคโควิด?

สุขภาพจิต (Mental Health) เป็นส่วนสำคัญในการมีชีวิตที่สมดุลและสุขภาพดี เพราะหากทุกคนมีปัญหาเกี่ยวกับจิตใจ อารมณ์ และต่อเนื่องไปสู่สังคม ซึ่งปัญหาเหล่านี้มันส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิด รวมถึงการปฏิบัติตัวในแต่ละวันว่าจะมีทิศทางที่ดีหรือย่ำแย่ลง ดังนั้นการรับมือกับความเครียดและการให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพจิตของตัวเองจึงสำคัญมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคโควิดก็นำไปสู่ความกังวลสารพัด แม้ว่าความเครียดที่เกิดขึ้นในสถานการณ์วิกฤตจะเป็นกลไกโดยธรรมชาติ แต่การไม่มีแผนรับมือความเครียดและการดูแลสุขภาพจิตที่ถูกต้องแล้ว อาจนำไปพาไปสู่ความเสี่ยงมากมายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

สาเหตุเกี่ยวเนื่องจากสถานการณ์โควิดที่พบได้บ่อยเมื่อผู้ป่วยมาพบจิตแพทย์คือ 

  • กลัวการติดเชื้อ รู้สึกหวาดระแวงไปหมด ไม่ว่าจะเป็นคนในบ้าน คนใกล้ตัว บางคนระแวงแม้แต่ตัวเอง มักจะวิตกจริตเกินเหตุอยู่บ่อยๆ 
  • เครียดเพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงรายวัน เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น นโยบายของรัฐบาลปรับเปลี่ยนเกือบทุกวัน ทำให้มีอาการตื่นตระหนก
  • กังวลกับทุกเรื่อง ไม่ใช่แค่กังวลเรื่องกลัวการติดเชื้อเท่านั้น บางคนยังกังวลในเรื่องต่างๆ เช่น ตกงาน ปิดเรียน ชีวิตไม่แน่นอน ยิ่งติดตามข่าวยิ่งเกิดความเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัว
  • ไม่รู้ว่าสถานการณ์นี้จะจบลงเมื่อไร คือความรู้สึกที่ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่เครียดมากที่สุด เพราะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าสถานการณ์นี้จะดำเนินไปอีกนานแค่ไหน และจะจบลงได้เมื่อไร 

ในผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่แล้วยิ่งเสี่ยงอาการกำเริบหากเครียดเกินไป

ยิ่งผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่แล้ว ความเครียดจากสาเหตุข้างต้นอาจทำให้อาการกำเริบได้ ซึ่งมีข้อมูลก่อนเกิดวิกฤตโควิด โดยองค์การอนามัยโลก รายงานเมื่อต้นปี 2020 ว่า ทั่วโลกมีคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าประมาณ 264 ล้านคน โดยประเทศไทยพบอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นจากปี 2560 คือ 4.94 ต่อประชากรแสนคน เป็น 5.33 ต่อประชากรแสนคนในปี 2561 นอกจากนี้ยังมีโรควิตกกังวลมากขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่มีรายงาน The Anxiety and Depression Association of America สูงถึง 18.1% ของประชากร หรือประมาณ 40 ล้านคน (ไม่นับผู้ที่มีปัญหาติดแอลกอฮอล์) จึงชัดเจนว่าเมื่อเกิดวิกฤตโควิด ผู้ป่วยอาจมีอาการกำเริบและสุขภาพจิตแย่ลง

จึงแนะนำว่าหากตนเอง หรือคนใกล้ชิดเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ป่วยสุขภาพจิต หรือสงสัยว่าป่วยอยู่ก่อนแล้ว ช่วงนี้ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อประเมินอาการและรักษาอย่างเหมาะสม หากมีนัดสม่ำเสมอก็ไม่ควรหยุดพบแพทย์ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ อาจนำไปสู่อาการรุนแรงและเป็นอันตรายได้ วิธีที่สะดวกมากขึ้นในปัจจุบันสามารถใช้บริการการรักษาทางไกล หรือ W-Mental Health ทำให้สะดวกมากขึ้น  

แนวทางการรับมือความเครียดที่ทุกคนสามารถทำได้ 

  1. ไม่ทำให้สถานการณ์แย่ลง โดยการตัดสินใจในเรื่องใหญ่หรือสำคัญ ควรรักษาตัวให้ดี ระวังอย่าให้ติดเชื้อโควิด
  2. ตามข่าวเท่าที่จำเป็น เลือกรับข่าวสารจากสถาบันข่าวที่เชื่อถือได้ เช็กข่าววันละครั้งก็พอ ไม่เชื่อ Fake News และระวังข่าวปลอม
  3. ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดต่อไป ทั้งเรื่องการรักษาความสะอาด เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการสัมผัส
  4. หมั่นเช็กสภาพจิตใจและอารมณ์ของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ 
  5. ใช้ชีวิตปกติและมีคุณค่า พยายามทำสิ่งที่มีประโยชน์ สร้างสรรค์ ไม่ทำให้ตัวเองเครียด 

ขอบคุณข้อมูล : thestandard

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *