วันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี และภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 สำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกประกาศเรื่อง กำหนดวันสำคัญของชาติไทย มีใจความสำคัญ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 ว่า การกำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันสำคัญของชาติไทยดังนี้ 1) เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร 2) เป็นวันชาติ และ 3) เป็นวันพ่อแห่งชาติ
“วันชาติ” โดยทั่วไปมักจะหมายถึง วันเฉลิมฉลองที่ประเทศนั้นๆ ได้รับอิสรภาพ เป็นเอกราช หรือเป็นวันสถาปนาประเทศ รัฐ ราชวงศ์ วันพระราชสมภพของกษัตริย์ วันเกิดประมุขของรัฐ หรืออาจจะเป็นวันที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อื่นๆ แต่มักจะถือเป็นวันหยุดประจำของชาติ ซึ่ง”วันชาติ” ของแต่ละประเทศจะเป็นวันใด ก็ขึ้นอยู่กับการกำหนดของประเทศนั้นๆ ความเป็นมาของวันชาติไทย แต่เดิมกำหนดให้เป็นวันที่ 24 มิถุนายน เพราะเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งวันชาติของไทยนั้นอยู่มานานถึง 21 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ถือวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ เป็น “วันชาติ” มาจนถึงปัจจุบัน
วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี จะเป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และเป็นวันพ่อแห่งชาติ เนื่องจากพ่อเป็นบุคคลผู้มีพระคุณและมีบทบาทสำคัญต่อครอบครัว ดังนั้นจึงถือเอาวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร จัดตั้งเป็น “วันพ่อแห่งชาติ”
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โปรดเกล้าฯ ให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร, วันพ่อแห่งชาติ และวันชาติ (ประเทศไทย) เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงอุทิศพระวรกาย พระราชหฤทัย และพระสติปัญญาของพระองค์ บำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันยังประโยชน์สุขให้แก่ราษฎรของพระองค์มาโดยตลอดและได้เชิดชูสดุดีพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนากาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้ทรงเป็นพระบิดาแห่งศาสตร์ต่างๆ 9 แขนง ได้แก่
- พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ
- พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย
- พระบิดาแห่งฝนหลวง
- พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย
- พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย
- พระบิดาแห่งการอนุรักษ์มรดกไทย
- พระบิดาแห่งการวิจัยไทย
- พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย
- พระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย