นักวิจัยคณะสัตวแพทย์ ม.อ. พัฒนาชุดทดสอบตรวจหาเชื้อโรคเมลิออยโดสิสในแพะเน้นความรวดเร็ว แม่นยำ ลดการแพร่เชื้อสู่แพะตัวอื่นๆและลดการแพร่เชื้อสู่คน

นักวิจัยคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พัฒนาชุดทดสอบตรวจหาเชื้อโรคเมลิออยโดสิสในแพะ สามารถวิเคราะห์ผลได้รวดเร็ว แม่นยำ ลดการแพร่เชื้อสู่แพะตัวอื่นๆและลดการแพร่เชื้อสู่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ดร.วรรณรัตน์ แซ่ชั่น อาจารย์ประจำคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และหัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนารูปแบบการตรวจวิเคราะห์โรคเมลิออยโดสิสในแพะ กล่าวว่า โครงการวิจัยและพัฒนารูปแบบการตรวจวิเคราะห์โรคเมลิออยโดสิสในแพะ ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ภายใต้แผนงานวิจัยพัฒนาและขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะของภาคใต้ ปีที่ 1 (พ.ศ. 2563–2565) เบื้องต้นโรคเมลิออยโดสิสเป็นเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาศัยอยู่ตามดินและน้ำ การติดเชื้อเมลิออยโดสิสในแพะพบได้บ่อย เนื่องจากเกษตรกรมีการปล่อยแพะให้กินหญ้าตามฟาร์มทำให้แพะมีโอกาสรับเชื้อโดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน ซึ่งการตรวจในแต่ละครั้งต้องนำน้ำและดินจากพื้นที่นั้นๆ ไปเพาะเชื้อโดยตรงเพื่อตรวจหาเชื้อโรคเมลิออยโดสิสด้วย ส่วนใหญ่พบเชื้อในพื้นดินมากกว่า50% หากพบว่าเกิดการติดเชื้อในแพะตัวใด ทางกรมปศุสัตว์แนะนำให้ทำลายทิ้งโรยปูนขาวและฝังกลบ ไม่แนะนำให้ทำการรักษาเนื่องจากไม่คุ้มค่าต่อการรักษาและใช้ระยะในการรักษาค่อนข้างนาน

จากการศึกษาทีมวิจัยได้คิดค้นชุดทดสอบตรวจหาเชื้อโรคเมลิออยโดสิส 3 เทคนิค คือ

–  ชุดตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคเมลิออยโดสิสในแพะด้วยวิธี IHA (Indirect hemagglutination assay) หากพบค่าของภูมิมีระดับสูงมาก คือ ระดับไตเตอร์ (Titer) จะเป็นประโยชน์เพราะสามารถทำการคอยเฝ้าระวังในแพะตัวนั้นๆได้ ข้อดีของชุดตรวจ IHA คือราคาไม่แพงและสามารถตรวจได้ครั้งละหลายตัว

–  ชุดตรวจวินิจฉัยเชื้อด้วยเทคนิค Real time Polymerase Chain Reaction( RT-PCR) จากการตรวจปัสสาวะและเลือดของแพะ

–  ชุดการหาตรวจ Antigen ต่อเชื้อด้วยวิธี Lateral flow agglutination test เพื่อตรวจหาการติดเชื้อแบบเฉียบพลัน

ดร.วรรณรัตน์ แซ่ชั่น กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการทำงานทีมนักวิจัยกำลังทดสอบความแม่นยำของชุดตรวจทั้ง 3 เทคนิค เพื่อให้ได้ข้อสรุปเป็นข้อมูลที่สามารถเป็นองค์ความรู้อย่างครบถ้วนนำถ่ายทอดต่อเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงแพะ อีกทั้งมีแนวทางการตรวจวิเคราะห์โรคเมลิออยโดสิสในแพะด้วยวิธีการตรวจจากน้ำลาย เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้น อีกประการนึงคือหากพบว่าแพะมีการติดเชื้อโรคเมลิออยโดสิส มักเป็นอันตรายต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงด้วย เนื่องจากเชื้อดังกล่าวสามารถติดต่อสู่คนได้นั้น เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะต้องคอยสังเกตอาการของตัวเอง หากมีอาการไข้ให้รีบพบแพทย์ทันที

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *