นักวิจัยสถาบันวิจัยและนวัตกรรมอาหาร ม.สงขลานครินทร์ พัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าว 12 สายพันธุ์ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคใต้ยกระดับข้าวท้องถิ่นด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

ผศ.ดร.ปุณณาณี สัมภวะผล รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (หน่วยงานภายใต้สังกัดสำนักวิจัยและพัฒนา ม.อ.) กล่าวว่า สถาบันวิจัยและนวัตกรรมอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตรและคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับงบสนับสนุนจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม หรือ สป.อว. เพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าว12 สายพันธุ์ ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคใต้ โดยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาบูรณาการกับข้อมูลของพื้นที่เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าวที่มีประโยชน์ต่อผู้บริโภค อีกทั้งภาคใต้มีข้าวท้องถิ่นที่หลากหลาย ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือข้าว GI (Geographical Indication) และข้าวท้องถิ่นที่ยังรอการลงทะเบียน GI แต่พบได้มากในท้องถิ่น ได้แก่  

1. จังหวัดสงขลา คือ ข้าวช่อขิงและข้าวลูกปลา

2. จังหวัดชุมพร คือ ข้าวเหลืองปะทิวและข้าวดอกขาม

3. จังหวัดสุราษฎร์ธานี  คือ ข้าวหอมไชยา

4. จังหวัดพังงา คือ ข้าวดอกข่า

5. จังหวัดนครศรีธรรมราช คือ ข้าวเม็ดฝ้าย 62

6. จังหวัดพัทลุง คือ ข้าวสังข์หยดและข้าวดำหมอ

7. จังหวัดกระบี่ คือ ข้าวหอมหัวบอน  

8. จังหวัดตรัง คือ ข้าวเบายอดม่วง

9. จังหวัดสตูล คือ ข้าวอัลฮัมดุลลิลละห์

ผศ.ดร.ปุณณาณี สัมภวะผล กล่าวเพิ่มเติมว่า ทีมนักวิจัยได้ศึกษาคุณประโยชน์ คุณค่าทางโภชนาการของข้าวแต่ละชนิด พบมีปริมาณโปรตีน, ไขมัน, คาร์โบไฮเดรต รวมไปถึงการย่อยเรื่อง GI ที่เกษตรกรปบลูกข้าวข้าถึงได้ง่าย ซึ่ง GI มี 2 ประเภท คือ Geographical index คือ ข้าวที่มีลักษณะเฉพาะของพื้นที่ และ Glycemic index คือ ค่าที่บ่งบอกความเร็วในการเปลี่ยนข้าวเป็นน้ำตาลกลูโคส หากเปลี่ยนไวจะทำให้ค่าน้ำตาลในกระแสเลือดที่สูงขึ้น โดยข้าวทั้ง 12 สายพันธุ์ที่เข้าร่วมโครงการมี GI ระดับกลางถือว่าเป็นข้าวที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพ

ทั้งนี้ทีมนักวิจัยสถาบันวิจัยและนวัตกรรมอาหาร ม.อ. ได้มีการนำข้าวแต่ละสายพันธุ์พัฒนาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่ายสร้างรายได้เสริมให้แกเกษตรกรปลูกข้าวของแต่ละพื้นที่ โดยการผสมผสานระหว่างข้าวท้องถิ่นและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายประเภทยกตัวอย่างเช่น

  • ข้าวเม็ดฝ้าย 62 ข้าวท้องถิ่นประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช มีคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนอีกสูง เมื่อนำมาแปรรูปเป็นขนมคบเคี้ยวก็ทำให้พลังงานโปรตีนในขนมสูงด้วย นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น ข้าวพร้อมทาน, โจ๊กข้าวกล้อง, เจลลี่ให้พลังงานสำหรับนักกีฬา ขนมอบกรอบ ที่ไม่ผสมแป้งสาลีและปรุงรสด้วยผงปรุงรสที่ให้เกลือและน้ำตาลต่ำ โดยกรรมวิธีการอบซึ่งไม่ผ่านการทอดอีกด้วย
  • ข้าวเหลืองปะทิว ข้าวท้องถิ่นประจำจังหวัดชุมพร มีองค์ประกอบของข้าว คือ อะไมโลสและอะไมโลเพกทินสูง เหมาะสำหรับการนำไปทำเป็นเส้นขนมจีนและผัดไท เนื่องจากให้ลักษณะการเหนียวนุ่มที่ดี
  • ข้าวลูกปลาข้าวท้องถิ่นประจำจังหวัดสงขลา สามารถนำมาแปรรูปเป็นแครกเกอร์ เนื้อสัมผัสมีความกรอบและเคี้ยวง่าย สามารถเก็บรักษาได้ระยะเวลานานขึ้น

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ : สถาบันวิจัยและนวัตกรรมอาหาร ม.อ. โทร. 074 282 911 หรือ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.อ. Agro-Industry PSU

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *