Nakorn Trang Innovation City ม.อ.ตรังจับมือเทศบาลนครตรัง ดำเนินการ 5 โครงการย่อยสู่เมืองนวัตกรรมเพื่อชีวิตที่ดีและการพัฒนาที่ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา รองศาสตราจารย์ ดร.อุดมผล พืชน์ไพบูลย์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง และนายสัญญา ศรีวิเชียร นายกเทศมนตรีนครตรัง ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ Nakorn Trang Innovation City ระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง กับเทศบาลนครตรัง เพื่อพัฒนานครตรังให้เป็น “เมืองแห่งนวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยมี นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานในพิธีลงนาม

ดร.พิเชตวุฒิ  นิลละออ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง หัวหน้าคณะทำงาน Nakorn Trang Innovation City ให้สัมภาษณ์ในรายการแลบ้านแลเมืองว่าโครงการ Nakorn Trang Innovation City  ประกอบด้วย 5 โครงการย่อยคือ โครงการนวัตกรรมเกษตรปลอดภัยคนเมืองเพื่อความมั่นคงทางอาหาร (Nakorn Trang Agri city) โครงการตลาดปลอดภัยออนไลน์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนเมือง (Nakorn Trang Digital Green Market) โครงการนครตรังเมืองต้นแบบสำหรับสังคมสูงวัย (Nakorn Trang Innovation Aging Society) โครงการพื้นที่สร้างสรรค์มรดกทางวัฒนธรรมสร้างสุขคนเมือง (Tub-Thieng Innovare Theatre) และโครงการนครตรังเมืองต้นแบบการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาวะ (Nakorn Trang Wellness Tourism) โดยม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรังมีส่วนร่วมพัฒนานครตรังร่วมกับเทศบาลซึ่งต้องการพัฒนาเมืองด้วยนวัตกรรม ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่าอีก 3-5 ปีนครตรังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีสัดส่วนผู้สูงวัยเกิน 20 เปอร์เซ็นต์จึงกลายเป็นโครงการนครตรังเมืองต้นแบบสังคมสูงวัย ซึ่งต้องปรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุหรือผู้พิการ โดยวิทยาเขตตรังมีต้นทุนด้านองค์ความรู้เรื่องการออกแบบอยู่แล้วคือหน่วยนวัตกรรมการออกแบบสำหรับทุกคน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ 

อ.พิเชตวุฒิ ขยายความให้ฟังอีกว่าโครงการเกษตรปลอดภัยออนไลน์หรือตลาดปลอดภัยออนไลน์มีส่วนเกี่ยวข้องกัน เพราะที่อยู่อาศัยในนครตรังส่วนใหญ่ไม่มีพื้นที่ปลูกผัก  แต่บางชุมชนมีพื้นที่ว่างสามารถพัฒนาเป็นสวนผักกลางชุมชน 4 ชุมชมนำร่อง สร้างกระแสการบริโภคการปลูกผักในเมือง กระจายพันธุ์ผักปลอดภัยให้คนในชุมชน เช่น พริก มะเขือ หรือผักต่างๆที่ปลูกในกระถางได้ พัฒนาต่อยอดเป็นโครงการตลาดปลอดภัยออนไลน์ ดิจิทัลกรีนมาร์เก็ต  คนเขตเมืองมีความต้องการบริโภคผักปลอดภัย ถ้าโครงการผลิตอาหารปลอดภัยสามารถผลิตผักและอาหารปลอดภัยก็สามารถตอบสนองความต้องการคนกลุ่มนี้โดยใช้เครื่องมือตลาดออนไลน์ที่เข้าถึงง่าย 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *