คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ถอดบทเรียนหลักสูตรด้านการ ออกแบบ อันเป็นเป็นการผสมผสานวัฒนธรรมถ่ายทอดสู่งานศิลปกรรม ต่อยอดการทำธุรกิจสร้างสรรค์ ผ่าน สถาบันออกแบบแฟชั่น PATANISTA ACADEMY พัฒนาองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยสู่ชุมชน
เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดสถาบันออกแบบแฟชั่น PATANISTA academy พร้อมจัดงาน การนำเสนอผลงานออกแบบแฟชั่น THE RISE OF PATANISTA โครงการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ และวิสาหกิจวัฒนธรรม: ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนเมืองปัตตานี โดยมีคณะผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษา และผู้สนับสนุน ร่วมเปิดงาน ณ ศูนย์ ม.อ.ปัตตานีภิรมย์ ถนนปัตตานีภิรมย์ อำเภอเมือง และ ลานศิลปวัฒนธรรม ถนนสายบุรี จังหวัดปัตตานี
อาจารย์พนิดา ฐปนางกูร ผู้ทรงคุณวุฒิชุดโครงการวิจัย มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาพื้นที่ กล่าวว่า การสร้างพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ และวิสาหกิจวัฒนธรรม มีความสำคัญยิ่งในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ที่ได้ชื่อว่าเมืองงาม 3 วัฒนธรรม ประกอบด้วยกลุ่มชนชาวไทยพุทธ ไทยมุสลิม และชาวไทยเชื้อสายจีน อาศัยอยู่ร่วมกันมายาวนาน ก่อเกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภายใต้ชื่อเรียก พหุวัฒนธรรม เมืองปัตตานีที่มีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ตั้งแต่อดีต ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ดำเนินการโครงการการพัฒนา เศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมเชิงพื้นที่วงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี หรือ Pattani Heritage City เพื่อรวบรวมข้อมูลและนำเสนอความหลากหลายทางวัฒนธรรม ออกสู่สายตาประชาคม
โดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ต่อยอดโครงการดังกล่าว และมีแนวคิดในการจัดทำ โครงการ Pattani : Creative Economy, Thailand เพื่อการต่อยอดองค์ความรู้ สู่การจัดตั้งสถาบันออกแบบแฟชั่น Patanista academy ขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานที่ให้ความรู้ ฝึกฝนทักษะ และให้คำปรึกษา รวมไปถึงเป็นจุดประสานงานกับองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรทางด้านการออกแบบ ให้มีศักยภาพเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานชั้นเลิศและนำเสนอออกสู่สังคม ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการนำเสนอภาพลักษณ์และทิศทางของโครงการให้กับผู้ที่สนใจได้ทราบอย่างถูกต้องและชัดเจนต่อไป
ผศ.ศิริชัย พุ่มมาก คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า คณะศิลปกรรมศาสตร์ ได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในการยกระดับคุณภาพและความเข้มแข็งของผู้ประกอบการเดิมเชิงลึก ต่อยอดการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ และพัฒนาเป็นวิสาหกิจวัฒนธรรม รวมทั้งส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ด้วยการพัฒนานักออกแบบไทยในพื้นที่ให้สามารถพัฒนาฝีมือการออกแบบแฟชั่น และส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถยกระดับผลงานสู่ตลาดสากล จึงจัดตั้ง สถาบันออกแบบแฟชั่น PATANISTA ACADEMY ภายใต้การจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างเสริมศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนเมืองปัตตานี ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และต่อยอดในการจัดทำ โครงการ Pattani : Creative Economy, Thailand ณ บ้าน ม.อ.ปัตตานีภิรมย์ ถนนปัตตานีภิรมย์ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
นอกจากนี้สถาบันออกแบบแฟชั่นแห่งปัตตานี Patanista Academy มีวัตถุประสงค์ สำคัญอีกประการ คือ เป็นศูนย์กลางในการเก็บรวบรวมข้อมูล ถ่ายทอดองค์ความรู้ ฝึกฝน ทักษะ และให้คำปรึกษาแก่นักเรียน นักศึกษา ผู้ประกอบการ รวมถึงประชาชนทั่วไป ในด้านการออกแบบและการทำธุรกิจสร้างสรรค์ พร้อมประสานสัมพันธ์ เชื่อมโยงเครือข่ายความ ร่วมมือทางวิชาการร่วมกับองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งทางภาครัฐและเอกชนในการผลักดัน และส่งเสริมการส่งออกสินค้าจากจังหวัดปัตตานีสู่ตลาดสากล ตลอดจนสะท้อนภาพลักษณ์และทิศทางของการออกแบบแฟชั่นให้กับผู้ที่สนใจได้รับทราบอย่างถูกต้องและชัดเจน
ทั้งนี้นอกจากการเปิดสถาบันออกแบบแฟชั่น PATANISTA academy แล้ว ยังมีการจัดการนำเสนอผลงานออกแบบแฟชั่น THE RISE OF PATANISTA การเดินแฟชั่นโชว์โดยผ้าพื้นถิ่นที่นายแบบและนางแบบสวมใส่ ผลิตโดยชาวบ้านจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการในจังหวัดปัตตานี เป้าหมายของสถาบันออกแบบแฟชั่น PATANISTA academy คือการนำผ้าพื้นถิ่นปัตตานีสู่สากล ส่งเสริมและผลักดัน ให้จังหวัดปัตตานีเป็นพื้นที่ของการทำธุรกิจสร้างสรรค์เพื่อส่งออกสินค้าด้านต่างๆ สู่ตลาดอาหรับ โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมของจังหวัดปัตตานีสร้างรายได้กับชุมชนในพื้นที่ และให้กับประเทศ โดยใช้ผ้าพื้นถิ่นที่ผลิตโดยชาวบ้านจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการในจังหวัดปัตตานี และนำมาออกแบบตัดเย็บใน รูปแบบ Collection THE RISE OF PATANISTA นับเป็นการเปิดโลกแฟชั่นปัตตานีสู่สากล โดยให้ความสำคัญ กับกระบวนการออกแบบ โดยใช้วัตถุดิบผ้าพื้นถิ่นที่จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยมี ดร.ปรรณกร แก้วรากมุก ผู้ประสานงานสาขา วิชาเอกออกแบบแฟชั่น ผู้ออกแบบชุดแฟชั่น จำนวน 17 ชุด ภายใต้แนวความคิด “ผ้าพื้นถิ่นสู่สากล”