มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จับมือบริษัท North East Rubber (NER) ลงนามความร่วมมือต่อยอดฐานงานวิจัยนวัตกรรมยางพาราเพื่อผลิตอุตสากรรมยางพาราเชิงพานิชย์ อาจารย์อัยยพร ขจรไชยกุล ที่ปรึกษารองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เล่าความเป็นมาของการจับมือร่วมกับภาคเอกชนอย่างเช่น NER ว่าเกิดจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ผลิตงานวิจัยยางพาราจำนวนมากและพร้อมจะพัฒนาร่วมกับภาคเอกชนโดยใช้ฐานงานวิจัยที่มีอยู่แล้ว โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยางต้นน้ำที่ประสบปัญหากลไกราคาที่ไม่สามารถควบคุมได้ให้เป็นอุตสาหกรรมแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มกับยางพาราต้นน้ำให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งมีเป้าหมายสนับสนุนให้กลุ่มวิสาหกิจ ชุมชน มีศักยภาพผลิตสินค้านวัตกรรมยางพาราโดยใช้งานวิจัยของมหาวิทยาลัย
อ.อัยยพร เสริมว่าแม้ในช่วงโควิดที่ผ่านมามีความต้องการถุงมือยางสูง แต่มีการกำหนดชัดเจนจากกลุ่มคู่ค้าต่างประเทศให้ใช้ยางสังเคราะห์ในการผลิตทดแทนเพราะปราศจากโปรตีนที่อาจทำให้เกิดการแพ้ อย่างไรก็ตามยังมีผลิตภัณฑ์อีกมากมายที่ไม่สามารถใช้ยางสังเคราะห์มาทดแทนได้ สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา ม.อ. เล็งเห็นโอกาสจึงสร้างกลไกการร่วมมือกับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ใช้ยางพาราเป็นวัสดุตั้งต้นสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ เช่น วัสดุดูดซับแรงที่บริษัท NER ให้ความสนใจคุณสมบัติการซับแรงของยางพารา อยากผลิตแผ่นปูพื้นคอกปศุสัตว์เชิงพาณิชน์ ซึ่งแผ่นปูพื้นยางพาราจะช่วยป้องกันการลื่นขณะลุกนั่งหรือเดินของสัตว์ ลดแรงกระแทก ซึ่งต้องมีการเก็บข้อมูลและทำวิจัยร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยและบริษัท ซึ่งความร่วมมือนี้เป็นหนึ่งในรูปแบบการใช้ประโยชน์ผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพารา เช่น ด้านเกษตรและปศุสัตว์ รองเท้าโคเพื่อช่วยลดการบาดเจ็บของกีบเท้าโค ด้านวิศวกรรมและพลังงาน ด้านคมนาคมด้วยถนนผสมของยางพารา และด้านสุขภาพการแพทย์ เช่น ถุงทวารเทียม
และมีแผนหลักการพัฒนานวัตกรรมยางพารา 3 มิติ คือสร้างกลไกให้รู้จักงานวิจัยมากขึ้น สู่การใช้ประโยชน์จริงให้ได้ทุกภาคส่วน สองวิเคราะห์ทิศทางโอกาสการใช้ยางพาราในตลาดอุตสาหกรรมของโลก เช่น สังคมสูงวัย ของเล่นสัตว์ และสุดท้ายคือสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกรชาวสวนยาง นำงานวิจัยสู่การสร้างประโยชน์แก่สังคม ไม่เพียงแต่เชิงพาณิชย์
อ.อัยยพร ย้ำว่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีนโยบายสำคัญคือการนำงานวิจัยเข้าสู่ภาคเกษตรกรให้ได้ 20-30% ของจำนวนงานวิจัยยางพาราทั้งหมดของมหาวิทยาลัย โดยนำงานวิจัยให้วิสาหกิจชุมชน โดยนำผลการวิจัยมาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่เกษตรกรเข้าถึงง่าย ไม่ซับซ้อน นำไปแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เช่น เส้นหวายรักโลก จากการนำยางพาราผสมเศษพลาสติกผลิตเป็นหวายสานกระเป๋า สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าใช้ในเชิงพาณิชย์ เป็นต้น โดยมีกลไกการร่วมมือกับหน่วยงานกระทรวงพาณิชย์ ใช้ Demand side เพื่อวิเคราะห์ความต้องการ สร้างความใกล้ชิดระหว่างงานวิจัยกับวิถีชีวิตของผู้คนมากขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย