ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคใต้ตอนบนพบสุนัขและวัวติดโรคพิษสุนัขบ้า ในจ.สงขลาเตือนประชาชนเฝ้าระวัง พร้อมยึดหลัก 3 ป. ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

จากการรายงานโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคใต้ตอนบน พบโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขพันธุ์ผสม เพศเมีย อายุประมาณ 1 ปี (66J18039) ซึ่งอาศัยอยู่ภายในสำนักสงฆ์ท่าช้าง หมู่ที่ 2 ตำบลบาโหย อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา พื้นที่รัศมี 5 กม รอบจุดเกิดโรค ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดยะลา ที่มีคลองเทพาเป็นเขตแดนธรรมชาติ มีสุนัขแสดงอาการดุร้าย ไล่กัดคนและสัตว์ระหว่างวันที่ 9-10 พย 2566 โดยพบผู้ถูกสุนัขตัวนี้กัดอย่างน้อย 4 ราย และมีสัตว์ถูกกัดอย่างน้อย 5 ตัว และเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 66 รายงานพบโรคพิษสุนัขบ้าในโค พันธุ์ผสมชาโรเล่ส์ เพศเมีย อายุ 3 ปี ในพื้นที่หมู่ 1 ตำบลสะท้อน อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา โคแสดงอาการดุร้าย พุ่งชน วิ่งพล่าน และกลืนน้ำ/อาหารลำบาก และตายหลังแสดงอาการ 5 วัน ทั้งนี้ทางศูนย์ฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามข้อมูลและเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

ด้านนายแพทย์สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ได้กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่สามารถพบได้ตลอดทั้งปี หากป่วยแล้วมีอาการผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย ซึ่งโรคพิษสุนัขบ้า เกิดได้ทั้งสุนัข แมว และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด สำหรับในประเทศไทยเกิดจากสุนัขเป็นหลัก โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำเป็นโรคติดต่อจากสัตว์มาสู่คนที่มีความรุนแรงมาก โดยมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นพาหะนำเชื้อโรคมาสู่คนที่นำโรคได้ทั้งสัตว์เลี้ยง และสัตว์ป่า เช่น สุนัข แมว วัว ควาย แพะ แกะ สุนัขจิ้งจอก สุนัขป่า พังพอน และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ สำหรับระยะฟักตัว (ระยะเวลาที่เชื้อเข้าสู่ร่างกายจนเกิดอาการ) ขึ้นอยู่กับ ความรุนแรงของบาดแผล ปริมาณของปลายประสาทที่ตำแหน่งของแผล และระยะทางแผลไปยังสมอง เช่น แผลที่หน้า ศีรษะ คอ และมือ ประมาณ 2 – 8 สัปดาห์ อาจสั้นเพียง 5 วัน หรือยาวนานเกินกว่า 1 ปี หากถูกสัตว์กัดหรือทำร้ายให้สันนิษฐานว่าสัตว์นั้นอาจมีโรคพิษสุนัขบ้าเสมอ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ประเภทไหน หรือเป็นลูกสัตว์หรือไม่ ซึ่งจะต้องกักสัตว์นั้นไว้สังเกตอาการจนครบ 10 วัน และถ้าเป็นสัตว์ป่า หรือไม่มีผู้รับผิดชอบกักขัง หรือติดตามดูอาการไม่ได้ให้ปฏิบัติเสมือนว่าสัตว์นั้นเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ผู้ถูกกัดต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยเร็ว และต้องมาฉีดให้ตรงตามกำหนดนัดหมาย

สำหรับการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ โดยยึดหลัก 3 ป. ดังนี้

ป.ที่ 1 คือ ป้องกันสัตว์เป็นโรค นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เริ่มฉีดครั้งแรกเมื่ออายุ 2 เดือน เข็มที่สองฉีดหลังจากเข็มแรก 3-4 สัปดาห์ และฉีดซ้ำตามกำหนดทุกปี ทำหมันสุนัขถาวร เพื่อไม่ให้มีจำนวนมากเกินความต้องการ จะช่วยลดจำนวนประชากรสุนัข และหากพบสัตว์ตายผิดปกติ ขอให้ส่งซากสัตว์ไปตรวจหาเชื้อซึ่งปัจจุบันสามารถส่งได้ทั้งตัวไม่ต้องตัดหัว

ป.ที่ 2 คือ ป้องกันการถูกกัด ไม่ปล่อยสุนัขหรือแมวออกนอกบ้านตามลำพัง หากต้องพาออกไปนอกบ้านให้ใส่สายจูง นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถหลีกเลี่ยงการถูกกัดโดยยึดคาถา 5 ย. คือ 1.อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห โกรธ 2.อย่าเหยียบหาง หัว ตัว ขา หรือ ทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่าง ๆ ตกใจ 3.อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า 4.อย่าหยิบชามข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร และ 5.อย่ายุ่งหรือเข้าใกล้กับสุนัขที่ไม่มีเจ้าของหรือไม่ทราบประวัติ

ป.ที่ 3 ป้องกันหลังถูกกัด โดยรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 10 นาที เพื่อกำจัดเชื้อออกไปให้มากที่สุด จากนั้นใส่ยาฆ่าเชื้อที่บาดแผล เช่น ยาเบตาดีน และกักสุนัขเพื่อดูอาการ 10 วัน หากสุนัขตายให้ส่งตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า และไปพบแพทย์ เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ควรฉีดให้ครบชุดและตรงตามแพทย์นัด ตามหลัก “ล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ และฉีดวัคซีนให้ครบ”

ทั้งนี้ ควรหมั่นสังเกตอาการสัตว์เลี้ยง หากพบเห็นสัตว์สงสัยป่วยโรคพิษสุนัขบ้า คือ มีอาการหางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ รวมถึงหลีกเลี่ยงการสัมผัสสุนัขหรือแมวที่ไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีนที่ชัดเจน หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 หรือหากเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินโทรสายด่วนนเรนทรสงขลา  โทร 1669 บริการ 24 ชั่วโมง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *