วิกฤต ‘หญ้าทะเล’ หายผืนใหญ่ ขาดแหล่งอาหาร-อนุบาลสัตว์ กักคาร์บอน

จากฐานข้อมูลกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า หญ้าทะเลบริเวณพื้นที่ทะเลอันดามันของจังหวัดกระบี่และตรัง เสื่อมโทรมจำนวนกว่า 10,000 ไร่ และเริ่มเป็นปัญหาใหญ่ตั้งแต่ช่วงปี 2562 เป็นต้นมา 

การเสื่อมโทรมและหายไปของหญ้าทะเลนี้ ประชากรอันดับแรกที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือสัตว์น้ำหายากอย่าง พะยูน โลมาหลังโหนก หรือเต่าทะเล จากแหล่งอาหารและทำมาหากินที่หายไป ซึ่งตามรายงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำรวจพบประชากรพะยูนในพื้นที่อันดามันเหลืออยู่เพียง 38 ตัวในปี 2567 จากปี 2566 ซึ่งสำรวจพบมากกว่า 180 ตัว 

หน้าข่าวของการพบพะยูนเกยตื้น หรือ ความเสี่ยงสูญพันธุ์ของสัตว์หายากอย่างพะยูน จึงมีให้เห็นเป็นระยะ และไม่ใช่เรื่องของวันข้างหน้า 

เหตุใดสถานการณ์นี้จึงถือว่าเป็น ‘ปัญหา’ หญ้าทะเลคืออะไร การหายไปจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสังคมในภาพรวมเช่นไร  รายการ ‘ThaiUNews’ – เครือข่ายสายตรงวิทยุสถาบัน พูดคุยกับ ดร.เอกลักษณ์ รัตนโชติ อาจารย์ประจำสถานวิจัยความเป็นเลิศ ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ 

ดร.เอกลักษณ์ รัตนโชติ

หญ้าทะเล – สวนป่าใต้ผืนน้ำ

หญ้าทะเลถือเป็นพืชสำคัญส่วนหนึ่งของระบบนิเวศท้องทะเล ดร.เอกลักษณ์เปรียบหญ้าทะเลว่าเป็นดั่ง “ป่าใต้น้ำ” ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลและแหล่งอาหารของสัตว์น้ำ 

หญ้าทะเลที่พบในประเทศในมีทั้งหมด 13 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะมีความสูงของต้น และลักษณะเด่นต่างกัน ดร.เอกลักษณ์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าความสำคัญของพื้นที่บริเวณเกาะลิบง จังหวัดตรังเป็นพื้นที่ซึ่งพบหน้าทะเลมากถึง 12 จาก 13 ชนิดในประเทศไทย 

ความสำคัญของหญ้าทะเลมีตั้งแต่การเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ แหล่งอาหารของสัตว์ทะเลอย่างพะยูน เต่าทะเล เป็นที่พักหลบภัยในช่วงวัยอ่อนของสัตว์ทะเล เช่น ปูม้า

หญ้าทะเลบางชนิด เช่น หญ้าคาทะเล จะมีความสูงมากกว่า 1 เมตร รวมถึงการมีรากหยั่งลึกเกาะหน้าดิน ซึ่งจะช่วยชะลอความเร็วของกระแสน้ำที่เข้ามากระทบชายฝั่ง และลดการกัดเซาะชายฝั่งได้เช่นกัน

ดร.เอกลักษณ์ยังกล่าวถึงอีกหนึ่งคุณสมบัติสำคัญของหญ้าทะเลคือการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนที่เกิดจากการสังเคราะห์แสงในดินตะกอนใต้ผืนหญ้าทะเล

ความหมายคือเมื่อพื้นที่หญ้าทะเลบริเวณชายฝั่งเสื่อมโทรมคุณสมบัติที่เกื้อกูลชีวิตน้อยใหญ่เหล่านี้ก็ย่อมหายไปด้วยเช่นกัน

ความน่ากังวลของสถานการณ์ปัจจุบัน

นักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. มองว่าสถานการณ์หายไปของหญ้าทะเล “ไม่ใช่เหตุการณ์ปกตินักในช่วง 10-20 ปีผ่านมา” แม้มีการค้นพบในบางช่วงเวลาว่า หญ้าทะเลบางชนิดมีความสามารถเจริญเติบโตกลับมาได้ตามลักษณะชนิดและการสืบพันธุ์

“จากข้อมูลที่เราค้นพบ หากหญ้าทะเลหายไปในบางช่วง สามารถฟื้นตัวกลับมาได้เอง เพราะหญ้าทะเลจะมีส่วนลำต้นฝังอยู่ใต้ดิน หรือเมล็ด หากส่วนนี้ยังเจริญและสมบูรณ์อยู่ เมื่อวันที่สภาพแวดล้อมเหมาะสมก็จะกลับขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง” ดร.เอกลักษณ์กล่าว

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ในปัจจุบันในช่วง 3-4 ปีมานี้กลับน่าเป็นห่วง ด้วยสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น คือ ตะกอนในท้องทะเล  ดร.เอกลักษณ์อธิบายว่าสภาพการณ์ด้านนี้ เมื่อหญ้าทะเลเป็นพืชที่ต้องการการสังเคราะห์แสง เมื่อเกิดตะกอนไหลลงท้องทะเลเพิ่มขึ้น ทำให้น้ำทะเลขุ่นรวมถึงทับถมต้นหญ้าจนเป็นอุปสรรคต่อการสังเคราะห์แสง จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลเบื้องหลังการลดลงของหญ้าทะเลในพื้นที่ทะเลอันดามัน

ความร่วมมือกับชุมชน 

หนึ่งในความร่วมมือที่ขาดไม่ได้ของการทำงานวิจัยในพื้นที่เกาะลิบงนั้น คือชุมชนในพื้นที่ซึ่งเป็นทั้งผู้ได้รับผลกระทบปลายน้ำโดยตรงจากความเปลี่ยนแปลง และผู้ถือองค์ความรู้สำคัญของทรัพยากรในพื้นที่ 

ดร.เอกลักษณ์กล่าวว่าชุมชนในพื้นที่เกาะลิบงมีความเข้มแข็งด้านองค์ความรู้หญ้าทะเล และการพยาบาลพะยูน หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงองค์ความรู้การทำประมงอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นั่นคือผืนหญ้าทะเลและสัตว์น้ำในพื้นที่ 

“ชุมชนบนเกาะหรือพื้นที่ตามชายฝั่งติดแนวหญ้าทะเลมีความสำคัญมาก เพราะพื้นที่หญ้าทะเลเหล่านี้เหมือนเป็น ‘สวนหลังบ้าน’ ของเขา จะเห็นความเปลี่ยนแปลงตลอดช่วงชีวิตเขาหรือตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย เวลาเราไปสัมภาษณ์ เขาจะบอกเลยว่าเมื่อก่อนเห็นเป็นสีเขียวเหมือนสนามฟุตบอล ตอนนี้มีอยู่แค่เป็นหย่อมๆ” ดร.เอกลักษณ์เล่าประสบการณ์ทำงานร่วมกันในการวิจัยพื้นที่

ดร.เอกลักษณ์ยังเผยอีกว่า ชุมชน ‘เขตเล เสบ้าน (สี่ชุมชน) ในพื้นที่จังหวัดตรังยังมีความเข้มแข็งจนถึงตั้งกฎของชุมชนขึ้นมาเพื่อควบคุมการใช้เครื่องมือประมงเพื่อลดการทำลายหญ้าทะเล จนถึงความรู้ปฐมพยาบาลหากเจอพะยูนเกยตื้นในพื้นที่ชายฝั่ง

ดร.เอกลักษณ์เผยว่าสิ่งที่นักวิจัยทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่ นอกจากแลกเปลี่ยนองค์ความรู้แล้ว ยังเป็นการจัดกิจกรรมอบรมเยาวชนหรืออาสาสมัครในพื้นที่เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ไม่ให้หายไปตามกาลเวลา 

ผลปลายน้ำ เริ่มบนบก

แม้จะมีความเข้มแข็งกับชุมชนในพื้นที่บริเวณหญ้าทะเลแล้ว แต่ ดร.เอกลักษณ์มองว่าพื้นที่ทะเลนี้คือ ‘ปลายน้ำ’ ของปัญหาที่เกิดขึ้น  กล่าวคือสาเหตุมลพิษทางทะเล เช่น ขยะในทะเล หรือปัจจัยที่ส่งผลโดยตรงต่อหญ้าทะเลคือตะกอนที่ไหลมาเพิ่มขึ้นนั้น เกิดขึ้นจากพื้นที่ ‘บนบก’ เป็นสำคัญ 

“เราต้องช่วยกันตั้งแต่ต้นน้ำ คนปลายน้ำเขาดูแลทรัพยากรอยู่แล้ว” ดร.เอกลักษณ์กล่าวถึงความสำคัญคน ‘บนบก’ ซึ่งเป็นสาเหตุให้พื้นที่ ‘ปลายน้ำ’ 

“ขยะทะเล การทิ้งขยะ หรือ การตัดไม้ทำลายป่า ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลทางทะเลทั้งหมด ตะกอนที่ถูกชะล้างมาแล้วลงทะเลไปทับถมแนวหญ้าทะเล หรือ น้ำทิ้งที่ไม่ได้รับการบำบัด ฯลฯ ทุกอย่างเกี่ยวข้องกันทั้งหมด” ดร.เอกลักษณ์ทิ้งท้ายให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันของทั้งระบบนิเวศน์ที่ทุกพื้นที่ต่างส่งผลกระทบถึงกันและกัน 

เรื่อง: กองบรรณาธิการ
ภาพหน้าปก: คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ภาพ: ภาณิชา ปณัยเวธน์


อ่านต่อ

รายการเครือข่ายวิทยุสายตรงสถาบัน – สนทนาสถานการณ์พะยูนและหญ้าทะเล ที่เกาะลิบง จ.ตรัง

สำรวจแนวปะการัง เกาะหนู เกาะแมว พบเสื่อมโทรม เร่งพัฒนาผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยว

อ่านเหตุผล ‘ปูไข่นอกกระดอง’ รับประทานอย่างไร ส่งเสริมความยั่งยืน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *