อาหาร-พฤติกรรม-การนอน คำแนะนำจากแพทย์แผนไทย วิธีดูแลร่างกายช่วงหน้าร้อน

ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาเผยว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา และมีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิอาจสูงสุดถึง 44.5 องศาเซลเซียส และสภาพอากาศเช่นนี้ส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม เช่น ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก หรือโรคอื่นที่เป็นผลจากความร้อนสะสมในร่างกาย 

นอกจากความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่แล้ว ความรู้แพทย์แผนไทยอาจชวนเสริมมุมมองการดูแลร่างกายในช่วงฤดูร้อนจากหลายสาขาวิชามากขึ้น  สถานีวิทยุ ม.อ.หาดใหญ่ พูดคุยกับ ‘ผศ.ดร.พท. พัชรวลัย ใจสมุทร’ อาจารย์ประจำคณะการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ถึงการดูแลสุขภาพร่างกายในช่วงอันร้อนระอุเช่นนี้

ฤดูร้อนและระบบร่างกายตามศาสตร์แพทย์แผนไทย

แนวคิดการแพทย์แผนไทยนั้น มองว่าร่างกายของเราประกอบด้วยธาตุทั้ง 4  ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ ซึ่งส่งผลต่อสมดุลร่างกายในรูปแบบที่ต่างออกไปตามต้นทุนภายในร่างกาย เพศ วัย สภาพแวดล้อมและพฤติกรรม

ผศ.ดร.พท.พัชรวลัย ชี้ว่าในช่วงฤดูร้อน สภาพอากาศและอิทธิพลของดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นความร้อน จะเข้ามากระตุ้น ‘ธาตุไฟ’ ในร่างกายได้ง่ายขึ้น และในสภาพอากาศเช่นนี้ ร่างกายจะตอบสนองด้วยความพยายามขับความร้อนออกจากร่างกาย เช่น การขยายตัวของหลอดเลือดและต่อมเหงื่อเพื่อขับเหงื่อระบายความร้อน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามสภาพอากาศร้อนก็ส่งผลต่อการทำงานของร่างกายให้รับภาระหนักมากขึ้น  พฤติกรรมทั้งการดื่มน้ำ รับประทานอาหาร รวมถึงปรับเปลี่ยนกิจวัตรเพื่อสอดรับกับสภาพอากาศจะเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยไม่ให้ร่างกายทำงานหนักจนเกินไปเพื่อปรับสภาพเข้ากับอากาศร้อนจัด

อาหารการกิน

ปัจจัยแรกที่จะช่วยทุเลาความร้อนในร่างกายตามศาสตร์แพทย์แผนไทยนั้น อ.พัชรวลัย ชี้ว่า เป็นปัจจัยด้านการกินและอาหารที่รับประทานเข้าสู่ร่างกาย 

อ.พัชรวลัย ชี้ว่าคำแนะนำจากการแพทย์แผนไทย ในช่วงหน้าร้อนควรรับประทานอาหารที่มีลักษณะ ‘ขม เย็น จืด’ ซึ่งช่วยลดการกระตุ้นธาตุไฟในร่างกายได้  

อย่างไรก็ตาม อ.พัชรวลัย อธิบายว่าคำแนะนำนี้ไม่ได้หมายความว่าห้ามรับประทานอาหารรสจัด ซึ่งเป็นความชอบส่วนบุคคล แต่ควรมีสามลักษณะนี้เด่นและนำรสชาติอื่น และหาสมดุลในการรับประทานอาหารเพื่อสอดรับความสุขในการทานอาหารคู่กันไป

ลักษณะ ‘ขม เย็น จืด’ นี้จะมีอยู่ทั่วไปในผักและผลไม้ และมักจะอยู่ในเมนูอาหารหลายอย่างที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น มะระ ตำลึง ฟักเขียว ใบบัวบก ฟักทอง แตงโม หรือพืชผักใบเขียว 

การเลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่ายจะช่วยลดการทำงานของระบบย่อยอาหาร ซึ่ง เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นธาตุไฟในร่างกายได้เช่นเดียวกัน เช่น การลดรับประทานเนื้อวัว หรือ เครื่องใน ซึ่งใช้เวลาในการย่อยมากกว่าเนื้อสัตว์อื่น เป็นต้น 

ขยับ ปรับเปลี่ยนรับหน้าร้อน

นอกจากด้านอาหารการกินแล้ว กิจวัตรประจำวันก็สำคัญต่อการรักษาสุขภาพร่างกายในฤดูร้อนนี้เช่นกัน คำแนะนำเบื้องต้นคือให้หลีกเลี่ยงสภาพอากาศที่ร้อนจัดเกินไป เช่นในเวลาเที่ยงตรงของวัน หรือ หากประกอบอาชีพที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การดื่มน้ำให้เพียงพอ สวมเสื้อผ้าระบายอากาศได้ดี สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันแดด ก็เป็นทางหนึ่งที่พอจะทุเลาความร้อนภายในร่างกายได้

คำแนะนำจาก อ.พัชรวลัยเพิ่มเติมคือ เมื่อช่วงเวลาเที่ยงของวัน จะเป็นช่วงที่มีอิทธิพลของดวงอาทิตย์เข้มข้น การใช้ความคิดหรือแรงในช่วงดังกล่าว ซึ่งเกี่ยวข้องกับอวัยวะใน ‘แกนกลาง’ ของร่างกาย ตั้งแต่สมอง หัวใจ ลำไส้ ตับ ฯลฯ  เมื่อกระตุ้นการทำงานของอวัยวะเหล่านี้ก็จะพลอยส่งผลต่อปัจจัยด้านธาตุไฟในร่างกายไปด้วย

นอกจากนั้น พฤติกรรมในการรับประทานอาหารก็สอดคล้องกับความร้อนและ ‘ธาตุไฟ’ ในร่างกายเช่นกัน เช่น การเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน จะช่วยลดการทำงานของระบบย่อยอาหารได้ และหากต้องประกอบอาหาร ผศ.ดร.พัชรวลัยมีคำแนะนำว่าควรประกอบอาหารในพื้นที่ที่มีการระบายอากาศดี และไม่ควรใช้ความร้อนมากเกินไปในการประกอบอาหาร ซึ่งจะช่วยลดการกระตุ้นธาตุไฟเพื่อรับมือกับความร้อนในอากาศได้เช่นเดียวกัน 

อีกคำแนะนำหนึ่งจากศาสตร์แพทย์แผนไทยประยุกต์คือ ‘กลิ่นหอม’  อ.พัชรวลัย เผยว่ากลิ่นหอมจะมีผลกับสภาพจิตใจซึ่งต่อเนื่องถึงการทำงานของร่างกายได้เช่นกัน เช่น หากเลือกดื่มชาอุ่นที่มีกลิ่นหอม เช่น ชาใบเตย หรือชามะลิ จะช่วยส่งเสริมให้ลดความร้อนในร่างกายได้ดี

อีกพฤติกรรมหนึ่งที่หลายคนอาจมองข้าม นั่นคือการเปลี่ยนจากสภาพแวดล้อมที่ร้อนจัดเข้าสู่ที่เย็นจัด (หรือกลับกัน) ในทันที อ.พัชรวลัยแนะนำว่าในกรณีเช่นนี้ควรเว้นช่วงเพื่อให้ร่างกายปรับตัว เพราะการกระทบความเย็นหรือร้อน จะส่งผลต่อการหด-ขยายต่อหลอดเลือดและระบบไหลเวียนโลหิตได้ 

การนอน

ปัจจัยที่ 3 ซึ่งสำคัญไม่แพ้อาหาร กิจวัตรและพฤติกรรมนั้น คือ การนอน

หลายครั้ง อากาศอบอ้าวในช่วงกลางคืนจะมาคู่กับการนอนไม่หลับ หรืออาจเป็นเพราะปัจจัยอื่น ในกรณีนี้ อ.พัชรวลัย แนะนำว่า ในขั้นต้นอาจแนะนำให้สำรวจสภาพแวดล้อมในการนอนว่ามีอากาศถ่ายเท เครื่องนอนสะอาด หรือกรณีที่เปิดเครื่องปรับอากาศไม่ควรร้อนหรือหนาวจัดจนเกินไป

อ.พัชรวลัย แนะต่อว่า หากสำรวจปัจจัยดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว และยังมีพฤติกรรมนอนไม่หลับอยู่นั้น อาจต้องพิจารณาปัจจัยด้านพฤติกรรมก่อนนอน เช่น การกินอาหารช่วงเวลาดึก การทำงาน หรือปัจจัยด้านความเครียด เป็นต้น 

อ.พัชรวลัย ชี้ว่า ช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการนอนหลับที่ดีที่สุดคือช่วง 22:00 นาฬิกา ถึง 02:00 นาฬิกาของอีกวัน เพราะเป็นช่วงที่ฮอร์โมนที่ส่งผลต่อการนอนหลับและการเจริญเติบโตของร่างกายหลั่งออกมามากที่สุด

อ.พัชวลัยยังเผยว่าคำแนะนำ เช่น การนั่งสมาธิก่อนนอน ฟังเสียงเพลงหรือธรรมชาติ หรือ การใช้กลิ่นหอมเพื่อช่วยให้ผ่อนคลายสำหรับเตรียมพร้อมต่อการนอนหลับนั้น  วิธีการเหล่านี้อาจขึ้นกับความเหมาะสมของแต่ละบุคคล และควรปรึกษาแพทย์หากมีอาการต่อเนื่องจนรบกวนชีวิตประจำวัน

เรื่อง: กองบรรณาธิการ


อ่านต่อ

หน้าร้อนระวังป่วย โรคลมแดด หรือ “ฮีทสโตรก” อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต

PSUBMENU “อเมริกาโน่มะพร้าว” คลายร้อน คลายง่วง ประโยชน์เพียบ !!

กรมอนามัยเตือน อากาศร้อน เสี่ยงอาหารบูดง่าย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *