หยุดซื้อ-กิน “ปูไข่นอกกระดอง” 1 ตัวออกลูกได้นับแสน !!

ปัจจุบันจำนวนปูมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากการประมง การจับปู และการบริโภคอย่างมหาศาลโดยไม่ได้ระมัดระวัง และไม่ได้คำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากร วันนี้จึงชวนดูสถานการณ์ปู และวิธีการแก้ไขปัญหานี้ที่คุณเองก็สามารถมีส่วนร่วมช่วยได้

“ปูมีความสำคัญกับประเทศไทยอย่างมาก มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ โดยมันเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมอย่างมาก”

จะเห็นได้ว่าในอาหารของไทยเราจะมีเมนูปูอยู่ด้วยเสมอ อย่างส้มตำปู ปูผัดผงกระหรี่ ปูไข่ดอง ปูนึ่ง และอื่นๆ ในไทยเป็นที่นิยมกินหลายชนิดทั้ง ปูม้า ปูทะเล (ปูดำ) ปูนา ปูภูเขา (ปูขน) ซึ่งการบริโภคปูที่มีไข่เป็นที่ได้รับความนิยมในการรับประทานอย่างมาก

ด้วยความนิยมในการบริโภคนี้ส่งผลทำให้จำนวนปูลดลง เนื่องจากมีการจับและล่ามากขึ้น แม้กระทั่งฤดูวางไข่ จับปูตัวเล็ก ปูไข่ โดยไม่ได้มีการปล่อยคืน เพื่อช่วยควบคุมหรือเพิ่มจำนวนประชากร ทำให้ปูมีจำนวนน้อยลง และขนาดเล็กลงเรื่อยๆ โดยจำนวนปูลดลงเฉลี่ยปีละ 2,000 ตัน!!

ปัญหาอยู่ตรงไหน อะไรทำให้มันลดลง ?

การจับปูที่มีไข่มาทำอาหารถือเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของการลดลงของจำนวนประชากรปู โดยปูจะผสมพันธุ์ มีไข่ในกระดอง และต่อมานอกกระดอง และวางไข่เป็นลูกต่อไป ซึ่งการจับปูไข่นี่เองทำให้ในทะเลมีจำนวนปูที่ลดลง เพราะแม่ปูม้าหนึ่งตัวจะผลิตไข่จำนวนมากถึงเกือบ 1 ล้านฟอง

ลูกปูตัวเล็กถูกนำมาทำอาหารก่อนวัยอันควร ไม่ทันได้มีลูก มีการจับปูขนาดเล็กมากขึ้นเพื่อนำมาบริโภคและจำหน่ายตามร้านค้าต่างๆ ทั้งนำไปทำปูนิ่ม ทำชุบแป้งทอด ส้มตำปู และอื่นๆ ซึ่งการลักลอบจับปูขนาดเล็กไปบริโภคก่อนกำหนดอย่างต่อเนื่อง โดยที่มันยังไม่ได้วางไข่ออกลูกออกหลาน จะทำให้ปูม้าหายากขึ้น และสูญพันธุ์ไปในที่สุด

นอกจากนี้ชาวประมงบางกลุ่มมีการใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง เช่น ใช้ลอบปู ใช้อวนตาถี่ขนาดเล็กกว่า 1 นิ้ว ซึ่งไปทำลายวงจรชีวิตของปูม้า พวกเรืออวนลากนอกจากทำลายวงจรชีวิตของปูม้าแล้ว ยังทำลายห่วงโซ่อาหาร แหล่งอาหารของปูม้า เพราะได้กวาดเอาทั้งสาหร่าย หอยกระพัง หอยกระพุงไปด้วย ถือเป็นการทำประมงที่ทำลาย ทำร้ายห่วงโซ่อาหารทะเลไทย

สารเคมีทำปูนาหายหมด เมื่อก่อนเราจะสามารถเจอปูนาได้ตามธรรมชาติมากมายแต่ในปัจจุบันหาได้ยากแล้วเนื่องจาก ปัญหาการทำเกษตรที่ใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า โดยพวกมันไวต่อสารเคมี และอีกส่วนหนึ่งขาดที่อยู่อาศัย

จับปูอย่างไร? ให้เรามีปูอยู่ให้กินเรื่อยๆ

เพื่อคงทรัพยากรของปูไว้ให้อยู่ในธรรมชาติ จึงมีการห้ามจับปูไข่นอกกระดอง โดยเฉพาะในช่วงฤดูวางไข่ของปู มันจะผสมพันธุ์วางไข่มากในช่วงปลายปี โดยจะวางไข่ชุกชุมในระหว่างเดือนสิงหาคม–ธันวาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใช้มาตรา 32 (7) แห่งพระราชบัญญัติทำการประมง พ.ศ. 2490 ห้ามทำการประมงปูที่มีไข่นอกกระดองประเภท ปูทะเล ปูม้า และปูลาย ตั้งแต่เดือนตุลาคม ไปจนถึงเดือน ธันวาคม ตั้งแต่ปี 2526

มีการทำ “ธนาคารปู” เพื่อคืนลูกปูสู่ท้องทะเลก่อนนำแม่ปูไปขายหรือทำอาหารมากขึ้น ธนาคารปูเป็นการนำแม่ปูที่มีไข่นอกกระดองแล้ว มาพักฝากไว้ โดยไข่แก่ติดหน้าท้องระยะแรกจะมีสีส้ม จนกลายเป็นสีดำ หลังจากนั้นมันจะคลายเขี่ยไข่ออกจากหน้าท้อง จึงสามาราถนำแม่ปูไปขายได้ ส่วนไข่ที่เขี่ยออกจากตัวแม่จะฟักเป็นตัวอ่อนใช้เวลาประมาณ 1-10 วันหลังจากนั้นจะถูกปล่อยสู่ธรรมชาติ จนเติบโตและสามารถจับได้อีกครั้ง โดยมันจะโตเต็มไวและวางไข่ได้เมื่อเวลาผ่านไป 3-6 เดือน โครงการธนาคารปูมีการขยายผลเพื่อส่งเสริม และสนับสนุนชุมชนบริเวณชายฝั่งในหลายจังหวัด

“การอนุรักษ์และปลูกป่าชายเลน อนุรักษ์แนวชายฝั่ง แนวหญ้าทะเล จะช่วยเพิ่มความอยู่รอดของตัวอ่อน ลูกอ่อนของปูมีศัตรูค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นอาหารของปลาขนาดเล็ก พืชป่าชายเลนเป็นที่หลบซ่อนของตัวอ่อน และจะช่วยให้ลูกปูมีโอกาสรอดและม่ีจำนวนมากขึ้นในธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์ห้ามจับ จะคัดลูกปูม้า และปูขนาดเล็กที่มีความกว้างกระดองต่ำกว่า 10 ซม. (18 ตัว/กก.) ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเพื่อให้มันเติบโต”

ผู้บริโภคควรรู้ กินปูอย่างไรให้ยั่งยืน

ผู้บริโภคปูควรเลือกอย่างระมัดระวัง โดยต้องพยายามไม่สนับสนุนหรือกินปูที่มีขนาดกระดองเล็กกว่า 10 เซนติเมตร โดยเลือกกินปูม้าที่โตมากกว่านี้ ( 5 ตัว / กก. )โดยมันจะโตเต็มวัยและมีโอกาสได้วางไข่ก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อทดแทนจำนวนประชากรในธรรมชาติที่ถูกจับ นอกจากนี้ก็ไม่ควรบริโภคปูที่มีไข่ทั้งในกระดองและนอกกระดอง เพราะแม่ปู 1 ตัวสามารถออกไข่ได้เฉลี่ยถึง 1 ล้านตัวเชียวนะ การไม่สนับสนุนปูไข่จะช่วยให้จำนวนปูอุดมสมบูรณ์มากขึ้น

การใช้และทำลายทรัพยากรอย่างไม่คำนึงถึงผลที่ตามมาของมนุษย์ในปัจจุบัน ทำให้เรามีทรัพยากรธรรมชาติ ที่เหลือน้อยทุกวัน จนกระทั่งหลายสายพันธุ์ได้สูญพันธุ์ไปแล้วเพราะมนุษย์ การหันมาใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และบริโภคอย่างระมัดระวัง รับผิดชอบ และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมจะช่วยให้เรามีทรัพยากรที่ยั่งยืนให้ลูกหลานของเรา

ขอบคุณข้อมูลและภาพเพิ่มเติม : spectrumth, nawatwithi