‘ร้านนายอินทร์ หาดใหญ่’ 27 ปี เพื่อนบ้านและร้านหนังสือคู่เมือง

เชื่อว่า ‘ร้านนายอินทร์ หาดใหญ่’ เป็นหนึ่งในร้านหนังสือที่คนทุกวัย หลายความสนใจมาเยือนแล้วจะได้อะไรกลับไปเสมอ 

ตั้งแต่ แผงหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือเยาวชน นิทาน การ์ตูน คู่มือเตรียมสอบเข้า คู่มือสอบราชการ คู่มือเรียนภาษา สาระความรู้ หรือใครอยากมาเปิดอ่านหนังสือ ใช้เวลาเสมือนห้องสมุดแห่งหนึ่ง ก็ทำได้แบบไม่เขินอายหรือใครสบสายตามอง 

ย่างเข้าราวปีที่ 27  นับตั้งแต่ยังเป็นร้านหนังสือดอกหญ้า จนปัจจุบันร้านนายอินทร์ซึ่งบริหารงานโดยบริษัทเพลินอักษร  ร้านหนังสือน้อยใหญ่ในหาดใหญ่ต่างโยกย้าย ปิดสาขา จนที่นี่กลายเป็นร้านหนังสือสแตนอโลนหนึ่งเดียวอยู่คู่เมือง 

ท่ามกลางสถานการณ์สิ่งพิมพ์ แวดวงตัวอักษรและน้ำหมึกที่มักจะถูกโยนคำถามถึงความอยู่รอดจากเทคโนโลยีที่เข้ามาสร้างแรงกระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา

‘สภากาแฟ’ สนทนากับ คุณสต๊อป พสคม ทองเจือ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเพลินอักษร บุ๊คเซ็นเตอร์ ถึงสถานการณ์ธุรกิจหนังสือ รสนิยมการอ่านในปัจจุบัน และก้าวต่อไปของร้านนายอินทร์ หาดใหญ่

คุณพสคม ทองเจือ

ร้านนายอินทร์ดำเนินการมากี่ปีแล้ว

ตั้งแต่ร้านหนังสือดอกหญ้าขนาด 2 ห้อง ขยายเป็น 3 ห้อง ผ่านน้ำท่วมหาดใหญ่มาด้วยกัน จนเป็นร้านนายอินทร์ หาดใหญ่ในปัจจุบันขนาด 5 ห้อง บริหารงานโดยบริษัทเพลินอักษร บุ๊คเซ็นเตอร์ ถ้ารวมทุกเวอร์ชันเข้าด้วยกัน ตอนนี้เราย่างเข้าปีที่ 27 แล้ว

น่าจะเป็นร้านหนังสือสแตนอโลนร้านเดียวในหาดใหญ่ ที่เหลือจะอยู่ในห้างสรรพสินค้า แต่ละที่ก็ปรับตัวกับยุคสมัยและสถานการณ์

คำถามประจำที่หนังสือเล่มต้องเจอคือการเข้ามาของอีบุ๊ก ในฐานะคนขายหนังสือมองเรื่องนี้อย่างไร

เป็นคำถามที่ทั้งคนอ่าน ร้านหนังสือ จนถึงสำนักพิมพ์ถูกถามกันบ่อยมาก ผมคิดว่าเป็นไปตามปัจเจกบุคคลมากกว่า ทั้งหนังสือเล่มและอีบุ๊กไปได้คู่ขนาน และรูปแบบก็เลือกคนอ่าน-คนใช้ เช่นกัน

ตัวผมเองขายหนังสือเล่ม แต่ก็ยังเป็นสมาชิกนิยาย วรรณกรรมอีบุ๊ก ผมคิดว่าทุกวันนี้สังคม โลกเปิดกว้าง เมื่อก่อนบอกกันว่าหนังสือจะตายแล้ว หรือบอกว่าต้นไม้จะหมดโลก กระดาษจะหมดแล้ว ฯลฯ พูดกันตั้งแต่สมัยผมเรียนหนังสือ ทุกวันนี้ไม้จิ้มฟันยังมีอยู่เลย (หัวเราะ)

แต่ละรูปแบบการอ่านก็มีแนวทางต่างกัน?

ใช่ ถ้าดูภาพยนตร์จูราสสิค พาร์ค ภาคแรก ดร.เอียน มัลคอล์มบอกว่า เดี๋ยวสิ่งมีชีวิตจะพบทางของมัน เขาหยดน้ำลงบนฝ่ามือ ครั้งแรกลงทางนี้ ครั้งที่สองลงอีกทางนึง ครั้งที่สามไดโนเสาร์หลุดจากกรงออกมา 

หนังสือก็เป็นหนึ่งในวัฒจักรแบบนี้เหมือนกัน ผู้แต่งอาจจะย้ายจากเขียนด้วยเครื่องพิมพ์ดีด เป็นโปรแกรม Words หรือหนักที่สุดตอนนี้มี AI เขียน แล้วนักเขียนมาเกลาภาษา มันเกิดขึ้นแล้ว แต่หนังสือก็ไม่ได้หายไปไหน

ทุกวันนี้งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติยังจัดกันอยู่ แถมมีงานที่ต่อยอดเฉพาะออกไปอีก หรือช่วงหลังๆ แต่ละสำนักพิมพ์ก็มี Open House เปิดโกดัง โละสต็อก ทุกอย่างมีการปรับตัว

ร้านหนังสืออยู่ได้เพราะนักเขียน นักอ่าน และสำนักพิมพ์ เราเป็นส่วนปลายน้ำก็พยายามรองรับกระแสต่างๆ รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภค ยุคสมัย หรือเทคโนโลยีที่เข้ามา

ก็จะมีเสียงบอกว่าอีบุ๊ก ไม่ได้สัมผัสหนังสือ หรือกลิ่นที่คุ้นเคย…?

เรื่องผิวสัมผัส วันนี้ไม่ว่าจะเป็น คินเดิล (Kindle) แค่เลื่อนหน้าก็มีเสียงครืด หรือฟิล์มสำหรับติดแท็บเล็ตยังมีผิวกระดาษ ปากกาแท็บเล็ตก็มีชนิดหัวที่ต่างกัน ฯลฯ

ผมคิดว่ามันก็มีการชดเชย ทดแทนกัน แต่ทุกคนมีโอกาสได้ลองการอ่านหลายรูปแบบ คุณแม่ รานี ทองเจือ จะนิยามว่าพวกเราคือคนขายหนังสือ แต่จะใช้ ‘ฅ’ เลย เราไม่ใช่คนเฝ้าหนังสือ ต้องรู้แต่ไม่ต้องทุกเรื่องก็ได้ แต่ต้องเข้าใจและฟังน้ำเสียงผู้อ่าน

มองบทบาทการขายหนังสือในปัจจุบันเป็นอย่างไร 

สมัยคุณพ่อ คุณแม่ จะเป็นการแจกข่าวสารทางจดหมายว่ามีรายชื่อหนังสืออะไรบ้างที่ออกใหม่ และนักเขียนจะเดินสายเสวนา มีระบุว่าเดือนไหน เมื่อก่อนหนังสือออกพร้อมกับนักเขียนตัวเป็นๆ 

พอมีอินเทอร์เน็ต อีเมล ก็เป็นการส่งข่าวสารทางออนไลน์แทน ถ้าเปิดตัวหนังสือใหม่ จะเปิดตัวตามงานหนังสือ นักเขียนจะไม่ไปตามร้านหนังสือย่อยๆ 

ตอนนี้ทุกอย่างเหมือน fast lane ปัจจุบันมีวัฒนธรรมการพรีออเดอร์ (pre-order) หนังสือยังไม่เสร็จแต่สั่งซื้อไว้ก่อน หนังสือไม่ทันอยู่ในร้านหนังสือ ผู้อ่านต้องตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ ยังไม่เห็นหน้าตาหรือกระดาษ แต่เชื่อใจผู้แต่ง หรือเห็น 1-2 ประโยค หรือ เพื่อนเราบอกว่าหนังสือเล่มนี้ดี ฯลฯ 

บางเล่มอยู่ในซีลพลาสติก เราจะหยิบมาอ่าน แต่ฉบับปรับปรุงออกแล้ว หน้าปกก็เปลี่ยนแล้ว ถ้าเป็นเมื่อก่อน rare item ของหนังสือคือการพิมพ์ครั้งที่ 1 ต่อให้มีคำผิด สะกดผิดหรือถูกอย่างไร แต่ครั้งที่ 1 คือ rare item นอกเหนือจากล่าลายเซ็นนักเขียน 

ทุกอย่างมีต้นทุน ทุกอย่างเอาแน่เอานอนไม่ได้ พิมพ์มาเผื่อไว้ก็มีต้นทุน ถ้า e-book เป็นไฟล์ ต้นทุนการเคลื่อนย้ายจะไม่มี  ธุรกิจเลยต้องการการันตีว่าจะได้เท่าไร ถ้ายอดสั่งจองน้อย จำนวนตีพิมพ์ก็จะน้อย หายากมากขึ้น บางคนบอกว่าหนังสือขายดีมักไม่ใช่หนังสือดี เป็นวลีติดตลก  แต่เราไม่เคยถกกันว่าใช่หรือไม่ใช่ บางเล่มบอกว่าดี พอเราจับแล้วมันไม่ใช่ แต่จะทำอย่างไรในเมื่อเราซื้อมาแล้ว เลยเกิดแนวคิด ‘ซื้อมากอง’ ‘กองดอง’ ‘ซื้อมาดอง’ ฯลฯ

คนอ่านหนังสือเป็นทั้ง นักอ่าน (reader) และนักสะสม (collector) ในเมื่อตอนนี้เรามีทั้ง อีบุ๊ก ทั้งไฟล์เสียง นักสะสมก็แลกกับการเป็น แพ็คเกจจิ้ง ของแถม หรือลายเซ็น 

เรานั่งคุยกัน ผ่านวิกฤตโควิด-19 มา ในช่วงที่สภาพเศรษฐกิจแบบนี้ อย่าว่าแต่สำนักพิมพ์หรือร้านหนังสือเลย ธุรกิจอื่นก็ยังหันเข็มทิศไม่ถูก กำลังจะปรับตัวเพื่อแก้ปัญหานี้ ด้านซ้ายมาใหม่ ด้านขวาก็มาใหม่ ทุกอย่างรวดเร็วไปหมด อยู่ที่ว่าเราจะวางตัวอย่างไร แนวทางที่ผมได้รับการสอนมาคือร้านหนังสือต้องสร้างภูมิคุ้มกันของตัวเองในการอยู่ร่วมกับสังคม สภาพเศรษฐกิจ และการดำเนินธุรกิจ 

จะบอกว่าใจรัก หรือมีความชอบ (passion) มันไม่พอ ต้องมีแนวคิด (mindset) ร้านหนังสืออยู่ได้ด้วยการปรับตัว เสาะแสวงหา เหมือนกับวิวัฒนาการ ไม่ใช่แค่สิ่งมีชีวิตแต่มันเชื่อมโยงกับวงจรของผลิตภัณฑ์ (product lifecycle)

แนวหนังสือไหนที่เป็นที่นิยมช่วงนี้ 

ส่วนที่กลับมาเป็นที่นิยมคือนิยายวาย (ชายรักชาย) งานหนังสือปีนี้ พ.ศ. 2567 ช่วงเดือนมีนาคม กระแสที่เพิ่มเข้ามาคือคู่หญิงรักหญิง (ยูริ) คู่กับแผนการตลาดที่มีซีรีส์ควบคู่กัน 

เรื่องแนวหนังสือ ตอนนี้คนขายหนังสือเองคุยกันหลังบ้านก็แอบปวดหัว เพราะเราให้น้ำหนักหมวดหมู่ที่จะโชว์ผู้อ่านได้ยากกว่าเมื่อก่อนซึ่งไม่ได้หลากหลาย ตอนนี้นิยายหรือหนังสือเด็กมีแบ่งย่อย เช่น ตัวชี้วัดของเด็กเพิ่มขึ้น เมื่อก่อนมีแค่ EQ และ IQ  ปัจจุบันมี STEMs หรือชื่อที่ตั้งตามสายการศึกษา ผู้ปกครองก็ไม่ได้จบแค่การคัดลายมือ ตอนนี้ทุกอย่างแตกแขนงออกไป

ลูกค้าเป็นทั้งครู เพื่อน และเพื่อนร่วมงานทางอ้อมที่มาแนะนำหนังสือ จะมาแนะนำว่าหนังสือเล่มนี้ดี มีเล่มนี้อยู่ที่ร้านไหม บางทีเราก็ตกสำรวจ

มองอนาคตร้านหนังสืออย่างไร

อยากเห็นการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน จะอ่านรูปแบบไหนก็ได้ เรายังเชื่อเสมอว่าหนังสือ – อย่างที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยบอก – ว่าร้านหนังสือเหมือนคนปิดทองหลังพระ เราเป็นฐานหรือแหล่งองค์ความรู้ ขอให้มีนักอ่าน เราเชื่อว่าการอ่านเป็นจุดเริ่มต้นของการเติบโต 

เราจะคอยเป็นแรงผลักดัน สนับสนุน ตอนนี้ลูกค้าเก่าเรามีครอบครัว ก็พาลูกมา ต่อให้หุ้มพลาสติก บอกพนักงานว่าขอเปิดอ่านได้ เรามีพื้นที่ มีโต๊ะอ่านหนังสือ จัดสรรพื้นที่การนั่งอ่านให้มานั่งร่วมกัน แวะเวียนผ่านมา เหมือนสโลแกนร้านรุ่นบุกเบิกของเราคือ ‘เพียงแวะเข้ามาชม เราก็แอบนิยมคุณอยู่ในใจ’ ให้เราเป็นเพื่อนบ้าน เป็นห้องสมุดของคนหาดใหญ่


ทัวร์ร้านนายอินทร์ หาดใหญ่ กับคุณพสคม

ชั้นที่ 1

เรียกว่าเป็นหน้าบ้านของร้านหนังสือ มีทั้งหนังสือคละกระแสและหมวดหมู่ หนังสือหมวดทั่วไป หมวดฮาวทู นวนิยาย หนังสือเยาวชน หนังสือใหม่ หนังสือขายดี

หนังสือแผนที่ เริ่มกลับมา แต่มีเพิ่มเติมอย่างที่คุยกันว่ามีวัฒนาการคือซื้อมาแล้วก็ได้อีบุ๊ก

ชั้นที่ 2 

ส่วนด้านขวาถ้าขึ้นบันไดมา โซนนี้ วันศุกร์ วันเสาร์-อาทิตย์ เด็กจะเยอะ เพราะเป็นการ์ตูนความรู้ เป็นเหมือนการย่อยความรู้ให้ง่ายขึ้น เอาเนื้อหาเกี่ยวกับโลก วิทยาศาสตร์ มาดำเนินเรื่องด้วยตัวละคร อย่างโคนันก็กลายมาเป็นโจทย์วิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ มีการเรียนรู้เรื่องราวบุคคลสำคัญ การแก้โจทย์ปัญหา ฯลฯ

นอกจากนั้นเรายังมีหนังสือสารานุกรม หนังสือแปลในราคาที่จับต้องได้ เพราะเมื่อก่อนราคาแพง 

ด้านซ้าย เรากำลังพัฒนาโซน non-book เป็นพวกโมเดล เช่น กันพลา (มาจาก กันดั้ม Gundam + ชุดต่อพลาสติก Plastic Kit = กันพลา Gunpla) หรือ art toy ถ้าไม่นับความชอบส่วนตัว ที่ญี่ปุ่นเขาจะมีหลักสูตร ถ้าเทียบกับบ้านเราคือการต่อบล็อกไม้ เป็นของเล่นไม้ เทียบสี เทียบเงา ของญี่ปุ่นเขาจะฝึกสัมผัสมือ มีการต่อกันดั้ม เขาถูกฝึกตั้งแต่อนุบาล ประถมเลย 

แต่ตรงนี้อาจจะเป็นเด็กหนวดหน่อยๆ เอากล่องออกแล้วหิ้วใส่ถุงพลาสติกเข้าไป เพราะไม่บอกคนในบ้าน (หัวเราะ) ต่อไปเดี๋ยวจะมีเวิร์กช็อป ต่อกันที่นี่ได้เลย ใครไม่กล้าเอากลับบ้านเรามีที่ฝากให้ รองรับทุกพฤติกรรม 

ชั้นที่ 3

ชั้นนี้เราพยายามทำให้บรรยากาศเงียบที่สุดเพราะเป็นทั้งตำราเรียน แนวข้อสอบต่างๆ

ตั้งแต่ยุคบุกเบิก เรามีสารานุกรมที่เมื่อก่อนเป็นคลังความรู้เลย ห้องสมุดประชาชน ห้องสมุดโรงเรียน ต้องมี จากนั้นเป็นหมวดภาษา การเตรียมสอบ เช่น ตอนนี้แพทย์ก็เริ่มกำหนดตั้งแต่ ม.1 แล้วว่าจะไปสอบสายไหน แพทย์ หรือ ภาษา ฯลฯ 

อย่างที่บอกว่าคนขายหนังสือหนักใจว่าจะจัดแบ่งหมวดหมู่ หรือปริมาณพื้นที่ของแต่ละหมวดหมู่อย่างไร ช่วงหลังเราก็ให้ผู้อ่านกับลูกค้าเป็นคนตัดสินใจเอง เมื่อก่อนจะจัดเป็นกลุ่มสาระ เช่น สังคมศึกษา วิทยาศาสตร์ ตอนหลังกำหนดเป็นรุ่น… ม.ต้น ม.ปลาย แล้วก็ทั่วไป ไม่ได้เรียงตามชั้นปีการศึกษา

นอกจากการสอบในระบบการศึกษา ก็มีสอบข้าราชการ ทั้งสอบตรียมทหาร สาย ก.พ. (กรรมการข้าราชการพลเรือน) การไฟฟ้า ตำรวจ สายผู้บริหารการศึกษา ฝั่งสายอาชีพก็มีตะลุยโจทย์ข้อสอบด้วยเหมือนกัน

เล่าสู่กันฟัง คือ หนังสือที่เราเลือกมาใหม่ เราพยายามรวมหนังสือประเภทที่ต่างประเทศเรียกว่า self-study เรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่เรียนรู้ในห้องเรียน เช่น ดูซีรีส์เกาหลี ก็จะดูคำศัพท์คู่กันได้

สัมภาษณ์: บัญชร วิเชียรศรี
เรียบเรียง: ธีรภัทร อรุณรัตน์
ภาพ: ภานุเทพ ปานหมี

อ่านต่อ

Hatyai Book Club พื้นที่ผู้คนและบทสนทนา ให้หนังสือเป็นเพื่อนร่วมเติบโต

คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. เปิดตัวหนังสือนิทานต้านหัด หวังลดเด็กตายจากหัดในพื้นที่ชายแดนใต้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *