คุณอาจสัมผัสผลงานของ ‘โก้ กุลธวัช เจริญผล’ ทั้งทางตรงหรือไม่รู้ตัวต่างกันออกไปตามช่วงวัยและโอกาส ผ่านการ์ตูนเล่มละบาท หนังสือนิทาน หน้าปกและภาพประกอบหนังสือสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา จนถึง โปสการ์ด แผนที่ หนังสือคู่มืออาหารประจำจังหวัด
ผลงานย่อมเป็นที่ประจักษ์ ถ้าจะบอกว่า ‘กุลธวัช’ วาดภาพ ทำงานศิลปะ แต่ถ้านิยามเขาเป็น ‘ศิลปิน’ เขาคงจะไม่ค่อยเห็นด้วย
ขอเป็น ‘ช่างเขียน’ ดีกว่า… เขาบอก
ก่อนกดบันทึกบทสนทนา เราพบกับ ‘โก้ กุลธวัช’ ในกิจกรรมสเก็ตช์ภาพ สำรวจสถาปัตยกรรมตัวเมืองชั้นในของหาดใหญ่ สมุดสเก็ตช์ภาพและ ตลับสีขนาดพกพา อุปกรณ์วาดเขียน หาที่นั่งมีร่มเงาสักมุมตึก ลายเส้นปลายปากกาค่อยๆ โบยบิน
“เริ่มจากสิ่งที่เห็นทุกวัน สิ่งที่เรากินวันละ 3 มื้อ” เขาบอกจุดเริ่มต้นสเก็ตช์ภาพในสงขลาซึ่งเลือก ‘อาหาร’ เป็นสารตั้งต้น แต่ละบันทึกในทุกวันค่อยสั่งสมกลายเป็นเรื่องราว ความสัมพันธ์ จนถึงประวัติศาสตร์
หรืออีกมุมหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่าคือการบันทึกรูปธรรม ‘ชีวิต’ ผู้คนผ่านมุมมองและความคิดของผู้วาดในแต่ละช่วงเวลา
และ ‘8 ปี’ คือเวลาที่เขาโยกย้ายมาใช้ชีวิตอยู่จังหวัดสงขลา ในตัวเมืองเก่าที่กำลังเห็นความผสมผสานตั้งแต่การเข้ามาของธุรกิจท้องถิ่นเดิม ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ จนกระทั่งกระแสทางวัฒนธรรมที่กำลังเริ่มหยั่งราก
ทั้งด้วยความชอบหรือหน้าที่การงาน การบันทึกชีวิตผู้คนย่อมปฏิเสธไม่ได้ที่ความเป็นตัวเองมักจะสอดแทรกอยู่ในผลงาน นั่นรวมถึงความรู้สึกเป็น ‘คนนอก-คนใน’ ของแต่ละพื้นที่นั้น ซึ่ง ‘กุลธวัช’ ให้นิยามตัวเองหนักไปที่ด้านแรก
“ตอนมา มีแค่ของกล่องเดียว ตอนนี้อะไรไม่รู้เต็มไปหมด” เขาพูดขึ้นในพื้นที่แวดล้อมซึ่งมีทั้งกองหนังสือ แผ่นซีดี จักรยานหนึ่งคัน เฟอร์นิเจอร์หลายชิ้นในบ้านเช่าซึ่งเคยเปิดเป็นร้านขายของที่ระลึก
ย่อหน้าต่อจากนี้คือบทสนทนา ที่ชวนสะท้อนแนวคิด ตัวตน ผ่านประสบการณ์หลายทศวรรษของ ‘กุลธวัช เจริญผล’
ตัดสินใจอย่างไรถึงย้ายมาอยู่สงขลา
ช่วงนั้นเดือนมีนาคม 2559 จำได้แม่นเลย มีพี่ที่รู้จักคนหนึ่งจะมาที่อำเภอสิงหนคร เรารู้สึกว่าชื่อแปลกดี เหมือนละครสิงหไกรภพ (หัวเราะ) ตอนนั้นไม่นึกอะไรมากก็ตามลงมา เขาพาไปดูประวัติศาสตร์ ป้อมปราการ ตรงตำบลหัวเขา
เราพอจะรู้มาบ้างว่าประวัติศาสตร์เมืองสิงหนครเป็นช่วงเดียวกับอยุธยา เลยคิดว่าน่าสนใจ เราถามเขาว่าไม่มีใครบันทึกอะไรเลยหรือพี่ เขาบอกไม่มี เลยถามต่อว่า จะสะดวกไหม ถ้าเราวาดภาพบันทึกประวัติศาสตร์ พี่เขาตอบรับ หลังจากนั้นเลยมาทำงานนี้
ลงพื้นที่ประมาณ 8 เดือน จะมีบางโอกาสข้ามไปฝั่งเมืองเก่าสงขลา เรารู้สึกว่าน่าจะทำอะไรสักอย่าง เลยเช่าหออยู่ หนึ่งเดือน สองเดือน สามเดือน… จนมีน้องคนหนึ่งถามว่าสนใจเช่าบ้านอยู่ไหม ลงเอยนับไปนับมาเกือบ 8 ปีแล้วนะที่อยู่ที่นี่
พอมาอยู่ก็เปิดร้านขายของที่ระลึก แต่ไม่ได้คิดขายจริงจัง ด้วยความที่เราทำงานเป็นฟรีแลนซ์ ทำงานที่ไหนก็ได้ รับทำงานภาพประกอบหนังสือของสำนักพิมพ์สวนเงินมีมาบ้าง สำนักพิมพ์อื่นบ้างเพื่อหาเลี้ยงตัวเอง ขายของอยู่สักพักก็ทำต่อไม่ได้ เพราะต้องใช้สมาธิวาดภาพ และเราก็เป็นคนขายของไม่เก่ง ขยันแจกมากกว่า
คนมักจะแซวอยู่เรื่อยว่าย่านเมืองเก่าสงขลาเนี่ย มีอยู่สามร้านที่ไม่ค่อยเปิด หนึ่งคือร้านเรา สอง ร้านหนังสือเล็กๆ ของพี่เอ๋ (เอ๋ อริยา ไพฑูรย์ อดีตบรรณาธิการสำนักพิมพ์แพรวเยาวชน) ตอนนี้แกย้ายร้านไปเชียงใหม่ จะเปิดเฉพาะช่วงบ่ายสอง-บ่ายสาม ชอบมาฝากกุญแจที่เรา อีกร้านหนึ่งคือร้านซ่อมหนังสือที่ถนนยะลา เหมือนแข่งกันไม่เปิดร้าน (หัวเราะ)
ปรับตัวด้านชีวิตและการทำงานอย่างไร
ช่วงแรกๆ เรารู้จักอ๋อย (คนคีตา พรหมสุวรรณ – กลุ่มสงขลา ใกล้ ใกล้ ทะเล และอดีตอาจารย์) แค่คนเดียว ส่วนคนอื่นในคอมมูนิตี้ศิลปะก็ทำงานห่างกัน ได้ยินเพียงแต่ชื่อ พอรู้จักอ๋อยก็เหมือนพาไปรู้จักคนนั้นคนนี้ ต่อกันเป็นใยแมงมุม
เรากับอ๋อยตั้งกลุ่มใหม่ขึ้นมา ชื่อว่า ‘ช่างหาทำ’ หมายถึง หาเรื่องกันทำไปเรื่อยๆ ว่าจะทำอะไรในเชิงกิจกรรมอาสาหรือการพัฒนาเมือง เช่น ไปคุยกับโต้ (โตมร อภิวันทนากร) ว่ามีเรื่องนี้ จะทำด้วยกันไหม บางทีโต้ก็ชวนว่ามาทำงานนี้ไหม ฯลฯ
ส่วนเรื่องงานศิลปะ เรามีเพื่อนในเฟซบุ๊กเกือบ 5 พันคน คนติดตามอีกเกือบสองพันคน เราก็เขียนรูปไปเรื่อยแล้วก็โพสต์ลงเฟซบุ๊ก พอมีคนเห็นเขาก็ชวนไปทำนู่นนี่ มาถามว่าพี่มีกิจกรรมนี้นะ พี่สนใจไหม
ปกติเราเขียนรูปอาหาร สเก็ตช์รูปอาหารในเมืองสงขลา ที่เราทำเพราะว่าเรากินทุกมื้อ เราแค่อยากเริ่มจากสิ่งที่เรากินทุกวัน วันละ 3 มื้อ
เสียงตอบรับเป็นอย่างไร
จริงๆ การสเก็ตช์ภาพอาหารไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะว่าทั่วโลกเขาก็ทำกัน แต่พอมาอยู่ในแหล่งที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก คนที่ไม่เคยเห็นก็จะรู้สึกว่าเป็นสิ่งแปลกใหม่
ช่วงแรกเราลงรูปอาหารแต่จะไม่บอกรายละเอียดนะ สมมติว่านี่วาดเต้าคั่ว เราจะไม่บอกว่าของร้านป้าคนนู้นคนนี้ เราจะเอาสิ่งที่บันทึกไว้มาเขียนเป็นรูป เพื่อเล่าเรื่อง หลังๆ มาเราก็ทำงานโปรเจกต์กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมตามจังหวัดต่างๆ อย่างตอนนี้กำลังทำหนังสืออาหาร ‘สำรับความสุขสตูลในใจ’ ซึ่งทำงานร่วมกับน้องๆ ที่สตูล
อะไรคือจุดเริ่มต้นของความชอบวาดภาพและสนใจศิลปะ
พ่อเราเขียนการ์ตูนเล่มละบาท ของบริษัทคุณเหม เวชกร (นักเขียนและจิตรกรผู้บุกเบิกการเขียนวรรณกรรม ภาพประกอบนิยายสยองขวัญแนวสามัญชน) สมัยก่อนอยู่ย่านสะพานพุทธ กรุงเทพฯ เราก็เห็นเขาทำงานมาตลอด ช่วงมัธยมเราก็เขียนการ์ตูนเล่มละบาทเหมือนกัน เพื่อส่งตัวเองเรียน สมัยก่อนค่าเรียนไม่แพงเหมือนสมัยนี้
คนมักจะบอกว่าการ์ตูนเล่มละบาทมีแต่เรื่องผี เรื่องโป๊ เรื่องหลอกเด็ก ฯลฯ แต่เราก็ต้องทำเพื่อส่งตัวเองเรียน หลังจบมัธยมศึกษา เราจะสอบเข้าวิทยาลัยเพาะช่างหรือมหาวิทยาลัยศิลปากร แต่สอบไม่ติด เลยเว้นทำงานหนึ่งปีก่อนสอบอีกรอบ
สุดท้ายไปเข้าวิทยาลัยครูธนบุรี เพราะเพื่อนบังคับให้ไปสอบ ช่วงนั้นเราไม่เอาอะไรเลย สนใจแค่วาดรูปอย่างเดียว ทุกวันนี้จบมาเหมือนคนไม่มีการศึกษา (หัวเราะ)
หลังเรียนจบอนุปริญญา เราไปสมัครงานที่สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ สมัยนั้นเขาเริ่มต้นจากเป็นร้านเครื่องเขียนจีน ขายสมุดจีน แล้วเปิดสำนักพิมพ์ อยู่ตรงสี่พระยา กรุงเทพฯ เราเข้าไปบอกว่าอยากทำนิตยสาร ตอนนั้นมีไฟมาก คุยกันแล้วเขาก็รับเลย แทบจะไม่ต้องใช้ใบปริญญา
ก่อนหน้าทำงานที่นานมีบุ๊คส์ เราอยู่ฝั่งธนบุรีปากท่อ มีสำนักพิมพ์เพื่อนเด็กของอาจารย์วิริยะ (วิริยะ สิริสิงห) อยู่ตรงถนนพระราม 2 ช่วงกิโลเมตรที่ 9 แกดังมากเลยนะ เป็นนายกสมาคมสิ่งพิมพ์ในสมัยนั้น เราเข้าไปบอกว่าผมอยากเขียนนิทาน อาจารย์วิริยะเป็นคนน่ารักมาก แต่แกเสียไปแล้วนะ เราเพิ่งมารู้ทีหลังว่าเป็นสามีของโบตั๋น (สุภา สิริสิงห) ที่เขียนนิยาย ‘ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด’
พอเราเข้าไปบอกว่าอยากทำนิทาน แกก็เล่านิทานให้ฟังเรื่อง ‘ข้าวหลามปราบยักษ์’ ให้เราไปวาดภาพประกอบ พอไปทำแล้วมาส่งให้ แกบอกว่า “ผมไม่ได้เล่าเรื่องแบบนี้นะ” (หัวเราะ) เราเขียนเป็นเรื่องใหม่เลยแต่โครงเดิม แกคงเอ็นดู ให้ค่าเรื่องมาน่าจะ 1,500 หรือ 3,000 บาท ไม่แน่ใจ
สมัยนั้นคงพูดได้ว่าไฟแรง มีอุดมการณ์?
ให้เท่หน่อยก็บอกว่าเป็นอุดมการณ์ แต่ถ้าไม่เท่ก็คือ กูอยากทำ แค่นั้นเอง เราคิดว่าคนเรียนสายนี้มาก็มีอุดมการณ์ระดับนึง ไม่รู้ว่าคนอื่นคิดอย่างไร แต่สำหรับเรา เราอยากทำหนังสือ อยากทำนิตยสาร อย่างนิตยสาร Go Genius (นิตยสารโกจีเนียส – สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์) รุ่นแรกๆ เราก็ร่วมเป็นคนทำ
แต่พูดตรงๆ ช่วงนั้นเราเป็นคนลอยๆ ไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวอะไร ไม่ค่อยสนใจระบบ ตอนทำที่นานมีบุ๊คส์ เราไปนั่งต้มมาม่ากินตรงโต๊ะกลางที่เขานั่งประชุมกัน บรรณาธิการนั่งทำงานกันหมด ก็ไม่ได้ดูดีอะไรหรอก แต่ด้วยความที่เราไม่สนใจอะไรกับใคร
ช่วงนั้นเราทำงานหนัก ไม่ดูแลตัวเองจนป่วยเป็นกรวยไตอักเสบ ต้องนอนโรงพยาบาล หลังจากนั้นก็ลาออก ตอนนั้นบริษัทยังไม่ค่อยดังเท่าไร ถ้าดังก็อยู่ต่อ ป่านนี้เป็นหัวหน้าไปแล้ว (หัวเราะ)
หลังจากนั้นทำอย่างไรต่อ
ใช้ชีวิตแบบฟรีแลนซ์มาตลอด ตั้งแต่อายุ 24 ปี ตอนนี้ก็ห้าสิบกว่าแล้วนะ ก่อนค่าเงินบาทลอยตัว-ฟองสบู่แตก ปี พ.ศ. 2540 เขียนภาพลงคอลัมน์ในนิตยสาร ‘บันทึกคุณแม่’ อยู่สบายมาก เงินดี ออกเดือนละครั้ง-สองครั้งก็อยู่ได้ แต่เราใช้ชีวิตเละเทะ เป็นคนเริ่มต้นตั้งใจดี พอไปต่อก็เริ่มเหลิง สนุกสนาน ไม่ใส่ใจกับงานที่ทำ
มีช่วงหนึ่งไปแสดงงานที่ ‘ร้านหนังสือเดินทาง’ ของพี่หนุ่ม (อำนาจ รัตนมณี) ตรงถนนพระอาทิตย์ แถวๆ ร้านโรตีข้างป้อมพระสุเมรุ ซึ่งก่อนหน้านั้นเป็น ‘ร้านหนังสือเล็กๆ’ ของพี่เอ๋ และ พี่จี๋ (บุษกร พิชยาทิตย์) ตลกมากเลย เพราะทั้งสองคนเราเพิ่งมาสนิทตอนพวกเขาเปิดร้านที่สงขลา
เราไปแสดงงานชื่อว่า ‘กาลครั้งหนึ่ง’ หนุ่มคงงงว่าไอนี่ใครวะ แต่เขาก็ให้แสดงงาน จนเขาโทรมาบอกว่ามีชาวต่างชาติขอซื้อรูป แล้วก็มีบรรณาธิการจากสำนักพิม์สวนเงินมีมา โทรมาถามว่าเขียนภาพประกอบได้ไหม เราก็บอกว่าได้ ตอนนั้นเราอยู่เชียงใหม่ อินเตอร์เน็ตอะไรยังไม่ดีเท่าสมัยนี้ เราเลยต้องกลับมาที่กรุงเทพฯ
ลงเอยเลยได้ทำงานกับสวนเงินมีมา วาดภาพ ทำภาพประกอบหนังสือของพะตีจอนิ เป็นชุดนิทานปกาเกาะญอ ทำเล่มหนึ่ง เล่มสอง เล่มสามแล้วก็ทำหนังสือให้สวนเงินฯ มาตลอดเป็นสิบปี จนเป็นเพื่อนกับบรรณาธิการ เขามีงานอะไรก็บอก เฮ้ย ทำให้หน่อย เราก็จะทำให้ ระหว่างทางก็มีประกวดวาดภาพของมูลนิธิเด็ก เจอพี่ที่เป็นบรรณาธิการ เขาบอกไม่ต้องส่งมาประกวดแล้ว มารับงานเขียนภาพเลยดีกว่า เราก็เขียนภาพประกอบนิทาน เขามีเนื้อเรื่องมาให้
พอเป็นฟรีแลนซ์แล้วไปอยู่มาหลายที่?
ใช่ ก็เอางานไปทำที่อื่นได้ เราไม่ได้อยู่กับครอบครัว ออกจากบ้านมาอยู่ข้างนอก เคยไปอยู่มาทั้งเชียงใหม่ สุพรรณบุรี อัมพวา-สมุทรสาคร ตอนนี้ก็มาอยู่สงขลา
มีช่วงหนึ่งไปอยู่บ้านญาติที่สุพรรณบุรี ตลาดเก้าห้อง ตำบลบางปลาม้า (ตลาดเก่าแก่ย่านการค้าริมแม่น้ำสุพรรณบุรี) มีวิทยากรที่ให้คำแนะนำชาวบ้าน ชวนเราไปอยู่อัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ตั้งกลุ่มเป็นนักการตลาดตามมหาวิทยาลัยเพื่อออกแบบแพ็คเกจจิ้งให้ชุมชน แนะนำเรื่องดีไซน์ ช่วงนั้นใช้ชีวิตหนัก เดินทางตลอดเวลา
การเป็นฟรีแลนซ์มันดูดี อุดมคติมากเลยนะ แต่ถามว่ามันคืออะไร ต้องผ่านอะไรมาบ้าง เวลาคุยกับคนรุ่นใหม่ที่บอกว่าอยากเป็นฟรีแลนซ์ เรามักจะแนะนำว่าควรเป็นพนักงานบริษัทก่อน พอรู้ระบบ มีคอนเนคชันในระดับนึงแล้วค่อยออกมาเป็นฟรีแลนซ์ แต่เด็กยุคนี้เก่ง ทั้งเรื่องเทคโนโลยี ยุคเราถ้าไม่รู้จักใครหรือไม่ขยัน มันอยู่ไม่ได้
ทำงานศิลปะมาเกือบ 3 ทศวรรษ มองว่า ‘ศิลปะ’ คืออะไร?
จะให้ตอบดีหรือไม่ดี (หัวเราะ) ศิลปะคือสิ่งที่สร้างออกมาจากมุมมองของเรา แต่สำหรับเรา ต้องหาเงินได้ด้วย ถึงจะมีคนบอกว่าไม่สนใจเงินทอง เอาจริงๆ ทุกคนสนใจเงินทองหมดแหละ เพิ่งฟังอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี แกบอกว่าศิลปะคือการหาเงินอย่างหนึ่ง บอกว่าอยู่เพื่อศิลปะหรือ มันฟังดูดี
ยกตัวอย่างงานอาสาที่เราทำ มันเป็นงานอาสาด้านสังคมหรือการขับเคลื่อนเมือง แต่ต้องมีเรื่องการจัดสรรส่วนที่เป็นรายได้ด้วย ไม่ใช่ว่าอาสาอย่างเดียว เราเหมือนเป็นคนตัวเล็กๆ มารวมตัวกันทำ ถ้าบอกว่าอยากขับเคลื่อนเมืองโดยลำพัง ถ้าเป็นเศรษฐีแล้วรักงานศิลปะ อันนั้นพูดได้ เสียงดัง แต่เราเป็นคนตัวเล็กต้องทำงานกับคนอื่น
ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อสังคม ของจิตร ภูมิศักดิ์?
เราเคยฟังนะ แต่ไม่ได้อินขนาดนั้น วัยเด็ก 14 ตุลาคม 2516 เราอยู่สะพานพุทธ ใกล้สนามหลวง ช่วงพฤษภาคม 2535 เราก็เป็นนักศึกษา เพื่อนเราแม่งขึ้นไฮปาร์คกันทั้งนั้น เป็นคนใต้ที่สนใจการเมืองทั้งนั้นเลย
ช่วงนั้นถามว่าอินไหม ก็อินนะ แต่เราพูดตรงๆ เรารักตัวเองมากกว่ามั้ง ถามว่าการเมืองจำเป็นไหม มันก็จำเป็น แต่ตอนนั้นเราคิดว่าไม่จำเป็นสำหรับเรา พออายุเยอะขึ้น เรียนรู้ด้วยตัวเองก็พบว่าจำเป็น การมีนักการเมืองหรืออะไรพวกนี้ แต่เราไม่ได้เข้าไปยุ่งมาก คนอื่นชอบบอกว่าฉันเป็นพวกสุขนิยม ใช้ชีวิตแบบไม่แอคอาร์ต ไม่อะไรมาก
เราไม่ชอบให้คนอื่นเรียกเราว่าศิลปินนะ โดนด่าตลอดว่ามึงนั่นแหละศิลปิน คนอื่นเรียกก็รับไปเถอะ (หัวเราะ) มีอีกคำนึงที่ใช้เรียกได้คือ ‘ช่างเขียน’ แต่เดี๋ยวนี้คนไม่ค่อยใช้กัน จะเป็นศิลปินทำไม มนุษย์เราเหมือนกันหมด เพียงแต่ศิลปินคือการต่อยอดทำให้เป็นอาชีพอาชีพหนึ่ง บางทีกูบอกว่าเป็นศิลปิน ก็จบ ง่ายดี ไม่ต้องอธิบายเยอะ พอบอกเป็น ‘ช่างเขียน’ แล้วก็ถูกถามต่อ
โยกย้ายตัวเองไปอยู่ต่างที่ตลอด เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็น ‘คนนอก’ ไหม?
เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนนอกอยู่ตลอดเวลา จริงๆ ไม่ควรคิดแบบนี้หรอก แต่อดไม่ได้ อาจจะโดยสันดานมากกว่านิสัย (หัวเราะ) เราไม่ได้เข้ากับคนทุกกลุ่ม เราก็เลือกเหมือนกัน หรือเขาก็เลือกเหมือนกันด้วย
ตอนที่อยู่เชียงใหม่ ไม่ได้คุยอะไรกับใคร อยู่ก็อยู่ อัมพวาก็ไปในฐานะอาจารย์ คนจะเรียกอาจารย์ อาจารย์ แต่ที่สงขลาเราตั้งใจแบบไม่ได้ตั้งใจอยู่มาเกือบแปดปีแล้ว
ช่วงแรกที่มา เราอยู่คนเดียวเลยนะ คนเดียวจริงๆ แต่อย่างที่บอกว่าพอรู้จักกับอ๋อยหรือวาดภาพแล้วโพสต์ลงเฟซบุ๊ก มันก็นำพาไปยังส่วนต่างๆ เหมือนอัลกอริทึมของติ๊กต่อก มีคนแนะนำเราว่า คนนี้ไงที่โพสต์เรื่องอาหารในสงขลา หรือวาดภาพแผนที่อาหารสงขลา
เราไม่ค่อยบอกกับใครหรอก เพียงแต่รู้สึกตลอดเวลาว่าเราเป็นคนนอกของคนอื่น อยู่ขนาดนี้เรายังพูดใต้ไม่ได้เลย จะมองในแง่โรแมนติกมันก็ได้ แต่สำหรับเราไม่ได้โรแมนติกขนาดนั้น มันต้องสู้มากกว่าคนอื่น และเราพิสูจน์ตัวเองด้วยการทำงาน
สมมติเป็น ‘คนใน’ บ้านนี้รู้จักกันอยู่แล้ว จะเข้าไปเมื่อไรก็ได้ แต่เราทำแบบนั้นไม่ได้ ต้องพิสูจน์ตัวเองเยอะ เป็นความรู้สึกว่าเราต้องทำงานหนักกว่าคนอื่น เรามองว่าที่อยู่มาได้เพราะว่างานที่ตัวเองทำล้วนๆ อาจจะไม่ใช่ศิลปะสำหรับคนอื่น เวลาเราปล่อยงานออกไป มันก็กลายเป็นสาธารณะไปแล้ว หรืองานเราก็ไปอยู่ในผลงานของคนอื่นอีกต่อหนึ่ง แต่เราปฏิบัติทุกวัน ไม่ใช่วันนี้ทำ พรุ่งนี้ได้เลย
ถ้าเป็นช่วงวัยรุ่น เราคงรู้สึกว่าต้องการการยอมรับหรือมีภาระพิสูจน์ตัวเอง มันคงมีอยู่แหละนะในทุกวันนี้ แต่เฉยๆ ไปแล้ว อาจจะเพราะว่าทำงานมาเยอะ คนอื่นคงเห็นงานเรา มันเลยจุดนั้นมาแล้ว หรืออาจจะเพราะว่าอายุมากขึ้น เวลา การใช้ชีวิต ทุกวันนี้เราลดอีโก้ตัวเองลงมาเยอะมาก
ทำงานอาสา ประเด็นเมือง ได้สัมผัสคนรุ่นใหม่ๆ แล้วมองพวกเขาอย่างไร?
ถึงเราจะอายุเยอะแต่ก็เข้าใจเด็กๆ ได้ในระดับนึงนะ ไม่ได้เข้าใจทั้งหมด แต่เราจะไม่ขวางลำพวกเขา จะแนะนำ เวลาทำงานร่วมกัน เราจะปล่อยให้เขาทำไปเลย พวกโปสเตอร์ วาดรูป หรืออะไรที่เราเป็นส่วนประกอบ เราจะไม่คอมเมนต์ว่าคอมโพส (สัดส่วนภาพ) ไม่ได้ ฯลฯ
เด็กรุ่นใหม่พลังเยอะ ถึงบางทีเราจะขัดหูขัดตาบ้าง (หัวเราะ) แต่เราต้องเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นกลาง นอกจากพวกเขามาขอคำปรึกษา เราก็จะยินดี อาจจะบอกว่า มึง มันไม่โอเคนะเว้ย
เหมือนอาจารย์สดใส (สดใส ขันติวรพงษ์) แกน่ารักมากนะ จะแนะนำทุกอย่าง ไม่มาบอกว่าอย่าทำนั่นนี่ เราอยากเป็นผู้ใหญ่แบบนั้น ไม่อยากเป็นผู้ใหญ่แบบที่เราเจอมาแล้วไม่ชอบ คนรุ่นใหม่มีพลัง เพียงแต่บางอย่าง เราอาจจะมองว่ามันแกว่งหน่อย หรือบางเรื่องโอเคในหลักการและเหตุผล บางเรื่องเราก็ไม่โอเค
ตอนที่ทำหนังสือให้ป้ามล (หนังสือเด็กน้อย โตเข้าหาแสง โดย ธิชา ณ นคร สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา) เราเข้าไปคุยกับแก เราก็เข้าใจนะ เด็กต้องมีผู้ใหญ่ที่เข้าใจเขาบ้าง อย่างช่วงนึงป้ามลก็โดนกล่าวหาว่า “ให้ท้าย” หยก (ธนลภย์ ผลัญชัย อดีตนักเคลื่อนไหวทางการเมือง) มันสุดแล้วแต่การแสดงออก
ผ่านชีวิตมาขนาดนี้ มองคำว่า ‘อุดมการณ์’ ในการใช้ชีวิตหรือทำงาน แบบไหน
อุดมการณ์มันดูสวยหรู ดูดี ในคนคนหนึ่ง อุดมการณ์กับอุดมคติคล้ายกันมากเลยนะ ถามว่าควรจะมีไหม ควรนะเว้ย สิ่งที่เราทำอยู่ก็ไม่ใช่ว่าลอยไปลอยมา ต้องมีอุดมการณ์ส่วนตัวในระดับนึง
ถ้าคุณบอกว่าอยากจะขับเคลื่อนเมือง นั่นเป็นอุดมการณ์ไหม ก็คงเป็น แต่สำหรับเราก็มีอุดมการณ์ส่วนตัว เช่น ไม่กินเหล้า ไม่เสพย์ยาเสพติด ถือว่าเป็นอุดมการณ์ไหม ก็เป็นอุดมการณ์ส่วนหนึ่งซึ่งมึงไม่ต้องไปบอกคนอื่นก็ได้ (หัวเราะ)
อุดมการณ์ไม่ใช่คำเก๋ๆ มันต้องลงมือทำด้วย และต้องช่วยกัน มีความหลากหลาย จากทั้งมองคล้ายกันหรือต่างกัน เราเชื่อว่ามนุษย์ไม่ได้เห็นตรงกันทั้งหมดหรอก แต่อยู่ร่วมกันในสังคมได้ไหม ได้ เรายังทำงานร่วมกันได้ เหมือนอาหาร เราอยากกินข้าวหมูแดง คุณอยากกินก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็ก เห็นต่างกัน แต่นั่งร่วมโต๊ะกันได้
บอกว่าไปอยู่มาหลายที่ ทำไมลงหลักปักฐานที่สงขลาเกือบ 8 ปีแล้ว?
ถ้าพูดดีๆ ก็คงบอกว่าติดใจ ตั้งแต่มาอยู่สงขลาเนี่ยแหละก็เจอเพื่อนเยอะ เพื่อนหลายกลุ่ม เพื่อนส่วนมากในเฟซบุ๊กส่วนใหญ่เป็นคนใต้ สงขลา พัทลุง หรือ กรุงเทพฯ ก็พอมีบ้าง
แต่ถ้าพูดไม่ดีคือแก่แล้ว ขี้เกียจเดินทาง วัยหนุ่มของเราผ่านไปแล้ว เริ่มเข้ากระบวนการคิดเยอะว่าจะทำไงต่อกับชีวิต จริงๆ เป็นคนซีเรียสนะ อาจจะดูว่าไม่สนใจอะไร แต่ก็คิดอยู่ตลอด จดจ่อกับสิ่งที่เราทำ
จะย้ายไปที่อื่นอีกไหม?
ถ้าจะแลนดิ้งตัวเอง อีกหน่อยคงย้ายไปสตูล เพราะบ้านแฟนอยู่ที่นั่น เป็นร้านขายของชำ คนกรีดยางต้องมาซื้อบุหรี่ ซื้อเหล้า น้ำตาล ฯลฯ เราไม่ได้สนใจว่าตัวเองทำงานศิลปะแล้ววันหนึ่งจะหยุด เราไม่สนใจเลย อยากอยู่เรียบๆ ทำสวน ขายของอะไรไป หรืออาจจะไปนั่งดูเขาตีไก่ ชนวัว พยายามใช้ชีวิตไม่มีอัตตา ชีวิตมันเรียบง่าย แต่เรียบง่ายก็ต้องมีเงินกินข้าวนะเว้ย (หัวเราะ)
เรื่อง: ธีรภัทร อรุณรัตน์
ภาพ: ฉันทวัฒน์ แซ่หลี