หนังสือนิทานต้านหัด หวังลดเด็กตายจากหัดในพื้นที่ชายแดนใต้ จากคณะแพทยศาสตร์ ม.อ.

อานีสเป็นหวัด

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน และเครือข่ายพลังอ่านชายแดนใต้ จัดทำหนังสือนิทานภาพ “อานีสเป็นหัด” เพื่อร่วมรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคหัด ด้านคณะผู้จัดทำคาดหวังว่า หนังสือนิทานอานิสเป็นหัดจะเป็นเครื่องมือทรงพลังที่สามารถสร้างวิถีสุขภาวะให้กับเด็กๆได้ โดยจะได้มีการเก็บข้อมูลการรับวัคซีนหัดต่อไป
จากโครงการเล็กๆโดยของนักศึกษาแพทย์ปีที่ 4 รายวิชาส่งเสริมสุขภาพร่วมกับหลายๆองค์กรในการพัฒนาแบบร่างทั้งจากสถาบันฮาลาล วิทยาลัยอิสลามศึกษาและกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน โดยมี ผศ.นพ.เทอดพงศ์ ทองศรีราช เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้นำมาต่อยอดโดยร่วมกับ แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน และเครือข่ายพลังอ่านชายแดนใต้ ผลิตเป็นเล่มที่สวยงามโดยได้รับการสนับสนุนการพิมพ์จากมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ในวันนี้ (6 พฤศจิกายน 2562) เป็นโอกาสดีที่เปิดตัวหนังสือนิทานภาพ “อานีสเป็นหัด” ณ ลานเวทีสุขภาพ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์

จากข้อมูล ปี 2559 ประเทศไทยเริ่มประสบปัญหาโรคหัด โดยพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2561 พบผู้ป่วยจำนวน 4,372 ราย เสียชีวิตแล้ว 23 ราย และในปี 2562 ข้อมูลวันที่ 18 ตุลาคม 2562 พบผู้ป่วยแล้ว 2,926 ราย เสียชีวิต 18 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุน้อยว่า 1 ปี ผู้ป่วยร้อยละ 84 ไม่เคยได้รับวัคซีนหัดมาก่อน โดยกลุ่มที่น่าห่วงคือ กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอของสงขลาที่ได้วัคซีนไม่ครบ เนื่องจากความเชื่อด้านศาสนา และปัญหาอนามัยแม่และเด็กในพื้นที่

ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 12 เผยว่าก่อนหน้านี้ได้มีการร่วมมือกันแก่ปัญหาโรคหัดในพื้นที่หลายโครงการ เช่นมีการประสานไปยังจุฬาราชมนตรีเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงว่าวัคซีนดังกล่าวไม่ได้ขัดกับหลักศาสนา และได้ทำหนังสือไปยังพื้นที่เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง พร้อมทั้งประสานไปยังผู้นำศาสนาฝ่ายปกครองในพื้นที่รวมถึงผู้นำหมู่บ้าน เพื่อขอความร่วมมือในการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาไปได้บ้างแต่ก็ยังมีค่าอัตราการรับวัคซีนต่ำกว่าอัตราการรับวัคซีนในประเทศ และมีการร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 ศึกษาความชุกภาวะขาดวิตามินเอของเด็กต่ำกว่า 5 ปีในพื้นที่พบผู้ป่วยโรคหัดเสียชีวิตจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ตลอดจนการแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการของเด็กในพื้นที่ชายแดนใต้อีกด้วย โดยในช่วงที่มีการระบาดของโรคหัดมีการเปิด ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (Emergency Operations Center, EOC)  ในระดับเขต เพื่อเร่งรัดการแก้ปัญหาให้หมดไป

ผศ.นพ.เทอดพงศ์ ทองศรีราช อาจารย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยว่า ประเด็นที่ชาวมุสลิมกังวลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนมีอยู่หลายประเด็น ตั้งแต่ประเด็นที่มีเหตุผลตามหลักศาสนาอิสลามไปจนถึงข่าวลือหรือความเชื่อผิดๆที่ส่งต่อกันมา โดยประเด็นหลักที่ชาวมุสลิมเชื่อกันเป็นส่วนมาก คือ เรื่องส่วนประกอบของวัคซีนซึ่งมีเจลาติน (gelatin) เป็นสารที่ทำให้วัคซีนคงตัว เจลาตินสกัดจากคอลลาเจนที่พบในเอ็น กระดูก และกระดูกอ่อนของสัตว์ เช่น ไก่ วัว หมู และปลา โดยชาวมุสลิมเชื่อว่าหากมีการสกัดสารจากสัตว์ต้องมีกระบวนการทำแบบฮาลาลตามหลักศาสนาอิสลาม กรณีนี้จุฬาราชมนตรี เคยมีคำวินิจฉัย (ฟัตวา) ไว้ในปี 2556 ว่าสามารถฉีดวัคซีนได้ เพราะตามคำสอนของศาสนาอิสลาม ชาวมุสลิมต้องป้องกันอันตรายอย่างสุดความสามารถและรักษาไว้ซึ่งสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์ของร่างกายที่อัลลอฮ์ทรงประทานให้ ซึ่งความจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนนี้เป็นสิ่งที่อยู่เหนือข้อห้ามในเรื่องความฮาลาลของวัคซีนเพราะในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่เป็นแบบฮาลาล นอกจากนี้ในประเทศอื่นๆบางประเทศ เช่น ประเทศอินโดนิเซียยังมีการประกาศจากองค์กรด้านบทบัญญัติของศาสนาอิสลามแห่งอินโดนีเซียว่าสามารถใช้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดได้เช่นเดียวกัน

นศพ.ธนกร ปรีชาสุชาติ ตัวแทนจากกลุ่มโครงการรายวิชาส่งเสริมสุขภาพของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยว่าปัญหาการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดถือเป็นปัญหาสำคัญที่พบมากในพื้นที่ภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากชาวมุสลิมมีความเชื่อว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเป็นสิ่งที่ผิดต่อหลักศาสนา ทำให้มีเด็กมุสลิมจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รับวัคซีน โดยกระผมและคณะผู้จัดทำรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ซึ่งนำมาสู่การจัดทำโครงการหนังสือนิทาน อานีสเป็นหัด และคาดหวังว่าหนังสือนิทานเล่มเล็ก ๆ นี้จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อทำให้เด็กในพื้นที่ได้รับวัคซีน และช่วยให้มีสุขภาพที่ดี ปลอดภัยจากโรคหัด “

ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน กล่าวย้ำว่าทั้งผลการวิจัยและประสบการณ์การทำงานของเครือข่ายส่งเสริมการอ่านทุกภูมิภาคพบว่าการอ่านทำให้เด็กมีพฤติกรรมสุขภาวะ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะได้รับการพัฒนาทั้ง 4 ด้าน ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม หนังสือและการอ่านไม่ได้เป็นเพียงสื่อสำหรับพัฒนาสมองเด็กและการสื่อสารสร้างสัมพันธภาพในครอบครัวเท่านั้น แต่ยังเป็นกระบวนการให้ผู้ใหญ่ที่แวดล้อมเด็กได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการดูแล ปกป้อง และพัฒนาเด็กปฐมวัยซึ่งเป็นวัยสำคัญที่สุดของวางรากฐานของการพัฒนาพลเมืองสร้างสรรค์ของประเทศ เราหวังว่า อานีสเป็นหัด จะเป็นอีกหนึ่งกรณีสำคัญ เช่นดังหนังสือเล่มอื่นๆ ที่จะช่วยฉุดเด็กๆและครอบครัวออกจากสถานการณ์วิกฤติที่กำลังเผชิญ

สำหรับผู้ที่สนใจหนังสือนิทานภาพ “อานีสเป็นหัด” หรือหนังสือเดินทางสร้างสุขเพื่อเด็กปฐมวัย สามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.happyreading.in.th