Hatyai Book Club พื้นที่ผู้คนและบทสนทนา ให้หนังสือเป็นเพื่อนร่วมเติบโต

ถ้าพูดว่า ‘Book Club – บุ๊คคลับ’ คุณนึกภาพไว้ว่ามีหน้าตาอย่างไร? ถ้าบอกว่าเป็นกลุ่มคนที่ชอบอ่านหนังสือ อ่านบ้างไม่อ่านบ้าง หรือไม่เคยอ่านแต่อยากฟังคนพูดคุยกันในเรื่องราวต่างๆ ที่มีหนังสือเป็นจุดตั้งต้นบทสนทนา 

พูดแบบนี้แล้วทำให้เห็นภาพในใจขึ้นบ้างไหม? 

‘Hatyai Book Club’ – แปลตรงตัวเลยคือกลุ่มหนังสือ หรือ วงพูดคุยเกี่ยวกับหนังสือในหาดใหญ่ นับนิ้วเร็วๆ พวกเขาจัดกิจกรรมมาเกือบ 12 ครั้ง ครั้งละ 1 เดือนแล้ว นั่นหมายความว่าเป็นเวลา 1 ปี ที่เกิดพื้นที่อ่านหนังสือจากคนรุ่นใหม่ในหาดใหญ่ขึ้นมา 

ครบรอบ 1 ปี คราวนี้ Hatyai Book Club จัดงานใหญ่กว่าวงคุย แต่อัดแน่นด้วยกิจกรรมตลอด 2 วัน เสาร์ อาทิตย์ – 29-30 มิถุนายน 2567 ทั้งเวิร์คช็อปการเขียน ในวันเสาร์ กับ ‘วีรพร นิติประภา’ นักเขียนรางวัลซีไรต์ ผู้เขียนหนังสือ ‘ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต’ รวมทั้งกิจกรรมวงคุยในช่วงเย็น  และ เปิดพื้นที่ ‘Free Space’ ในวันอาทิตย์ ณ ศูนย์การศึกษาเพื่อสันติภาพ พบปะผู้คน นั่งอ่านหนังสือ หรืออยากเปิดวงบุ๊คคลับของตัวเองก็ทำได้ตลอดทั้งวัน

ร่วมย้อนดูจุดเริ่มต้นการทำ Book Club แนวคิดพวกเขาเป็นแบบไหน และในโอกาสครบ 1 ปี พวกเขามองเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ชวนอ่านบทสนทนาของเรากับ ‘Hatyai Book Club’ ได้เลย

จุดเริ่มต้น Hatyai Book Club?

ณัฐวัฒน์ ปาลสุข (มู๊ดดี้): เราคุยกับไหม (คุณกังสดาล จิตติถาวร) ในรถกันสองคนว่า การมีคนอ่านหนังสือเล่มเดียวกัน เรื่องที่ชอบคล้ายกัน แล้วมานั่งคุยกันน่าจะเป็นเรื่องดี เลยตัดสินใจลองโพสต์ลงในสื่อโซเชียลว่าจะจัดเป็นบุ๊คคลับในร้านกาแฟที่ผมทำงานอยู่

เราเลยหาแนวร่วม (หัวเราะ) โทรไปหาพี่แมน มานิตย์ (คุณมานิตย์ หวันชิตนาย) พอพี่แมนสนใจร่วมด้วย ก็คุยกันว่าจะจัดครั้งแรกกันที่ไหน พอมีสถานที่แล้วก็นัดหมายวันรวมตัว

(จากขวามือสุด) แมน มานิตย์, มู้ดดี้ ณัฐวัฒน์, ไหม กังสดาล

ทำไมเลือกจัดที่ร้านกาแฟ เวลาช่วงกลางคืน

มู๊ดดี้: ผมเป็นคนทำงานกลางวัน กลางคืนจะว่าง เราเลยใช้พื้นที่ของร้านตัวเอง และเหตุผลที่เลือกช่วงเย็นวันศุกร์ เพราะคิดว่าคนอาจจะทำงานเหนื่อยมาทั้งวัน ทั้งสัปดาห์แล้ว น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนผ่อนคลาย มาคุยกันเรื่องที่แต่ละคนชอบและสนใจ 

จัดบุ๊คคลับครั้งแรกแล้วผลตอบรับเป็นอย่างไร?

มู๊ดดี้: ไม่ได้คิดเรื่องจำนวนคนที่มาเข้าร่วมเลยครับ อย่างน้อยเราสามคนมานั่งคุยกันได้ก็โอเคแล้ว หรือแค่มีกลุ่มเล็กๆ แล้วเราได้ขยายเป็นทอดต่อทอดไปเรื่อยๆ เรารู้สึกว่ายั่งยืนกว่าประกาศครั้งเดียวแล้วคนมาเยอะ

ผลตอบรับครั้งแรกถือว่าดีพอสมควร คนมาประมาณสิบคน โดยที่ไม่รู้ว่าจะคุยกันเรื่องอะไร ไม่มีโจทย์อะไรเลย เราตั้งเก้าอี้รอบร้านเป็นวงกลมแล้วก็เว้นตรงกลาง ใครก็นำพูดได้ ทุกคนถือหนังสือมาคนละเล่ม มาแบ่งปันมุมมองความคิดของแต่ละคน

บรรยากาศเหมือนได้รู้จักส่วนลึกของแต่ละคน บางคนเกิดการสูญเสียในชีวิต หรือบางคนแชร์สิ่งที่เขาได้จากการอ่านหนังสือเล่มที่อ่านอยู่ 

ผมได้เจอคนนึงเป็นคุณหมอ ยายเขาเพิ่งเสีย แล้วอ่านหนังสือที่ชื่อว่า Crying in H-Mart (พื้นที่ให้เศร้า มิเชลล์ ชอเนอร์ เขียน) ผมอ่านเล่มนี้อยู่เหมือนกันก็เลยได้แลกเปลี่ยนกัน

กังสดาล จิตติถาวร (ไหม): เราไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อนเลย ทุกคนใหม่หมด แต่รู้ว่ามีความชอบเหมือนกัน คือหนังสือ เราได้รู้จักพวกเขาผ่านสิ่งที่ชอบ หนังสือแนวไหน แต่ละคนก็มาเล่าให้ฟัง วันนั้นในวง อายุน้อยที่สุดน่าจะราว 13 ปี น้องมัธยม แล้วก็ไล่อายุขึ้นมา ไม่จำกัดอายุ ไม่จำกัดแนวเลย 

ทำไมเลือกจัดงานที่มาเจอกัน?

มู๊ดดี้: ผมอยากเห็นภาพเมืองหาดใหญ่ที่มีกลุ่มคนรักการอ่านมานั่งด้วยกัน อย่างน้อยจะได้รู้ว่าใครเป็นใคร เราเจอกันข้างนอกอย่างน้อยก็อาจจะรู้ว่าเข้าไปคุยกับเขาเรื่องอะไร

เราคิดว่าเป็นพื้นที่ที่แบ่งปันให้ใครจัดก็ได้ เลยใช้คำว่า ‘Hatyai Book Club’ ผมมองว่าในอนาคตอาจขยายจากหนังสือเป็นเพลง เป็นภาพยนตร์ เป็นได้หลายอย่างมากจากวงคุยนี้ พอคนมาเจอกัน มันได้เชื่อมผู้คนถึงกันและกัน

จุดเริ่มต้นของการอ่านหนังสือของแต่ละคนเป็นอย่างไร?

ไหม: หนังสือเป็นสิ่งที่เราคลุกคลีอยู่ตั้งแต่เด็ก จำความได้พ่อแม่จะชอบให้อ่านหนังสือ ซื้อหนังสือสารคดี หนังสือภาพมาตั้งแต่เด็ก พอโตขึ้นการอ่านก็เป็นกิจกรรมที่ให้เรามีเวลาจดจ่อกับอะไรบางอย่าง และช่วยให้เราเปิดกว้างทางความคิด

เราอ่านหนังสือแนว non-fiction ปรัชญา จิตวิทยา วรรณกรรมเยาวชน พวกนี้เป็นกลุ่มที่อ่านบ่อย เรามองว่าหนังสือมีที่มาจากประสบการณ์เดิมของผู้เขียน หรือความสนใจ จนถึงสิ่งที่ผู้เขียนได้รับแรงบันดาลใจ เช่น วรรณกรรมเยาวชนก็สะท้อนถึงแง่คิดการใช้ชีวิต

มู๊ดดี้: สารภาพตามตรง ตอนแรกไม่ชอบอ่านหนังสือเลย คุณแม่เป็นบรรณารักษ์ห้องสมุดที่โรงเรียนแสงทอง เราเจอหนังสือทุกวันหลังเลิกเรียน เพราะต้องไปนั่งห้องสมุดกับแม่เพื่อทำการบ้าน เราเห็นแล้วมันเอือน (หัวเราะ) 

ช่วงมัธยมปลาย เราเป็นเด็กนักเรียนโรงเรียนประจำ ช่วงเวลาว่างเขาให้ทำการบ้านหรืออ่านหนังสือ เราไม่อยากอ่าน อยากอยู่เฉยๆ หรือหลับ 

ช่วงที่ค้นพบการชอบอ่านหนังสือคือประมาณ 3-4 ปีก่อน ทำงานร้านกาแฟที่ อ.นาทวี เปิดร้านกาแฟของตัวเอง เป็นร้านที่ห่างจากตัวเมือง มีลูกค้าคนหนึ่งมาที่ร้าน เอาเก้าอี้แคมป์มาตั้งใต้ต้นไม้ แล้วนั่งอ่าน เราเห็นเขาทุกวัน มาบ่อยมาก รู้สึกว่าสงบ สบาย เราเลยตัดสินใจซื้อหนังสือมาอ่าน เล่มแรกที่หยิบอ่านคือ Atomic Habits เกี่ยวกับการเปลี่ยนนิสัยของตัวเองวันละหนึ่งเปอร์เซ็นต์ ทีละนิดทีละหน่อย 

ตอนนั้นก็เหมือนเป็นช่วงค้นหาตัวเองว่าชอบอะไร เราไปเจอพอดแคสท์ช่องหนึ่ง ชื่อ Readery แนะนำหนังสือที่อ่านแบบไม่ได้สปอยล์ (เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่อง) แค่บอกว่าอ่านแล้วแต่ละเล่มให้ความรู้สึกอย่างไร

แล้วเราก็ไปเจอวรรณกรรมแปลญี่ปุ่นเล่มหนึ่ง ชื่อว่า I Call Him Necktie (ผมเรียกเขาว่าเน็กไท มิเลนา มิชิโกะ ฟลาชาร์ เขียน) นักเขียนเป็นคนญี่ปุ่นที่ไปใช้ชีวิตประเทศเยอรมนี แต่เขาเขียนถึงสังคมญี่ปุ่นได้ดีมาก เลยตัดสินใจอ่านแล้วก็มีเล่มอื่นตามมาเรื่อยๆ 

มานิตย์ หวานชิตนาย (แมน): ผมชอบอ่านหนังสือเด็ก ช่วงเด็กๆ เราไม่ได้เข้าถึงการอ่าน แต่พอโตขึ้นก็คิดว่าเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่สอนเด็กน่าสนใจ เราเลยซื้อพวกวรรณกรรมเยาวชนเยอะขึ้น เช่น วินนี่ เดอะ พูห์ เรารู้สึกว่าน่าจะส่งต่อให้คนรุ่นต่อจากเรา หลานๆ น่าจะได้อ่าน พยายามให้เขาเจอหนังสืออ่านง่ายแบบนี้ 

แต่ละเดือนตกลงเรื่องหรือหนังสือที่จะคุยกันอย่างไร?

มู๊ดดี้: เราเริ่มถามในวงก่อนว่าครั้งหน้าจะคุยกันเรื่องอะไรดี เช่น ลองคุยกันเป็นธีม-หัวข้อไหม หรือว่าจะเจาะจงเป็นเล่ม และเราก็มีกลุ่มในเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมชื่อว่า Hatyai Book Club ค้นหาเข้ามาได้เลย บางทีเราจะตั้งหัวข้อให้โหวตกันว่าเดือนหน้าอยากคุยเรื่องอะไร 

หรือใครอยากจะจัดบุ๊คคลับก็ inbox มาที่เราได้ เราก็จะขึ้นเพจประกาศให้คนรู้

ครบ 1 ปี บุ๊คคลับ ครั้งนี้ขยายงานมากกว่าวงคุย มีทั้งเวิร์คช็อป พูดคุยนักเขียน เปิดพื้นที่ทำกิจกรรม ทำไมถึงทำเป็นงานใหญ่?

มู๊ดดี้: ผมมองว่าบุ๊คคลับเป็นของทุกคนในเมือง แต่ยังมีคนที่ไม่รู้ว่าเรามีวงนี้อยู่ การจัดกิจกรรมครบรอบ 1 ปี เหมือนทำให้เป็น Grand Opening เพื่อบอกทุกคนว่าทุกคนก็จัดได้นะ ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน เราจะช่วยให้ทุกคนมีวงบุ๊คคลับเป็นของตัวเองได้

แมน: การอยู่มาถึง 1 ปีก็อาจพิสูจน์การยืนระยะประมาณหนึ่ง เราก็ไม่รู้ว่ากำลังของคนจัดจะไปได้ถึงขนาดไหน เพราะต่างคนต่างมีงานและภารกิจส่วนตัว พอครบ 1 ปี เราเลยอยากให้คนรู้ว่ามันเกิดขึ้นได้กับทุกคน หนังสือทุกเล่ม คนทุกวัย 

ก่อนหน้านี้เราจัดกิจกรรมตอนค่ำมาตลอด กลุ่มที่มาไม่ได้คือครอบครัว เด็ก เยาวชน เลยคิดว่าถ้าอยากให้การอ่านหรือหนังสือเข้าถึงคนมากขึ้น น่าจะหาจังหวะหรือช่วงเวลาที่ดึงคนกลุ่มนี้มามากขึ้น เราเลยจัดช่วงกลางวันให้ครอบครัวมา อาจจะจูงมือลูกหลานมาอยู่กับบรรยากาศของคนอ่านหนังสือ ได้เห็นหนังสือ

กิจกรรมนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?

แมน: เราให้โจทย์แต่ละคนไปว่าอยากจัดงานครบ 1 ปีที่อยากเห็นนักเขียน คนอ่านหนังสือในหาดใหญ่ แต่ข้อจำกัดที่ผ่านมาของเราคือการรวมตัวกันในร้านกาแฟของคนรู้จัก ไม่ต้องใช้ทุน ครั้งนี้คิดว่าต้องใช้การประสานงานมากขึ้น

เราจัดในแนวคิดเดิมว่าเราไม่มีทุน แต่จะใช้การประสานงาน ก็คุยกันแต่ละคนว่ารู้จักใคร ฝั่งไหนกันบ้าง วงคุยวงที่สองก็เลยดึงคนหลากหลายมาหารือกันมากขึ้น พอจะนึกภาพออกและขายไอเดียให้กับทุกคนว่าเราอยากจัดเป็น free space ให้ทุกคนจัดกิจกรรมของตัวเองได้ และเราก็ดึงกลุ่มต่างๆ เข้ามาร่วม เช่น ร้านหนังสือในหาดใหญ่-สงขลา-สตูล ร้านขายของ ขายข้าว หรือกลุ่มนักรบผ้าถุงที่สื่อสารด้านความสมบูรณ์ของพื้นที่จะนะ ฯลฯ

เราคุยกับฝั่ง decode (สื่อออนไลน์ในเครือ Thai PBS) เขาเสนอว่าจัดอบรมการเขียน ให้นักเขียนมาจัดอบรม 1 คอร์ส นักเขียนไม่ว่างวันอาทิตย์ที่ 30 แต่ว่างวันเสาร์ที่ 29 เราก็เลยจัดสองวัน เลยทำให้รู้สึกเหมือนเรา “เล่นใหญ่” (หัวเราะ)

เรามองว่าจะเกิดโอกาสกับคนในเมือง ทั้งคนที่สนใจงานเขียน หรืออยากพัฒนาฝีมือการเขียน ได้คุยกับมืออาชีพ นักเขียนจริงๆ และกิจกรรมในวันที่ 30 เราจัดที่ศูนย์การศึกษาเพื่อสันติภาพซึ่งมีทั้งพื้นที่ outdoor เป็นพื้นที่เงียบอ่านหนังสือ นั่งคุยกัน หรือทำกิจกรรม พื้นที่ข้างในก็จัดเวิร์กช็อปได้

แนวคิดการจัดกิจกรรมในพื้นที่นี้เป็นอย่างไร?

แมน: เราเคยจัดกิจกรรมเอากาแฟไปแชร์กัน หรือแลกหนังสือกันอ่านที่ร้าน camp แถววังพา พบว่าร้านบรรยากาศเงียบ วันนั้นมีคนอ่านหนังสือเล่มประมาณ 3-400 หน้าจบ 

มันเลยเป็นที่มาของงานครบรอบ 1 ปีว่าควรมีพื้นที่ มีเก้าอี้วางเอาไว้สักจุด เผื่อใครอยากนั่งอ่านหนังสือ หรือใครอยากจัดวงคุยของตัวเองก็เอาเก้าอี้มานั่งคุยกันได้เลย

เราจะมีตารางให้เขียน ใครอยากคุยเรื่องไหน ตรงบริเวณของงานจุดไหน ก็มาเขียนในตารางนี้เพื่อให้คนที่เข้าร่วมรู้ เห็นตารางนี้ก็เดินไปได้ จากที่เราจัดมา มีคนที่อยากนั่งฟัง อยากมาอยู่ในบรรยากาศ ไม่จำเป็นต้องอ่านมาก่อนก็ได้ บางคนฟังแล้วอยากซื้อหนังสือหรือยืมหนังสือคนในวงไปอ่าน 

จากการจัดบุ๊คคลับมา 1 ปี สิ่งที่มองเห็นความเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร?

มู๊ดดี้: เดิมทีเราไม่ได้รู้จักคนเยอะ พอทำบุ๊คคลับก็เริ่มรู้จักคนอื่นๆ ไปข้างนอกก็เจอกัน ทักทาย ถ้าใครทำธุรกิจอะไรบางทีก็ไปอุดหนุน เป็นเพื่อนกับคนอื่นที่อ่านหนังสือง่ายขึ้น แลกเปลี่ยนในจุดที่สนใจเรื่องหนังสือ มันกระทบจิตใจกันมากกว่าเรื่องที่ไม่ได้สนใจ

แมน: ผมเห็นว่าตัวเองอ่านหนังสือมากขึ้น ผมเป็น ‘สายดอง’ (หัวเราะ) ซื้อหนังสือมาครั้งละ 4-5 เล่ม ตั้งแต่เริ่มทำงาน อยากมีหนังสือแต่ไม่เข้มงวดกับตัวเอง ช่วงที่ทำบุ๊คคลับ บางเดือนเราอ่านหนังสือได้ 2 เล่ม เล่มนึงสำหรับโจทย์ของแต่ละเดือน เป็นหนังสือที่ไม่คิดว่าจะเดินผ่านแล้วซื้อ อีกเล่มสำหรับที่สนใจ

ถามว่ากลุ่มเติบโตไหม เรารู้ว่ามีเพื่อนตรงไหน รู้ว่าชวนคนนั้นคุยเรื่องนี้ได้ แม้คนรอบข้างจะบอกว่าจัดงาน 1 ปีมันเล่นใหญ่ แต่เราคิดว่าเกิดขึ้นได้เพราะทุกคนที่เคยมาร่วมวงกันช่วยให้เกิดขึ้น

เราอยากเห็นนักเขียนมานั่งคุยกับผู้อ่านด้วยตัวเอง หรือถ้าใครมีหนังสือตัวเอง จะเอามาขายก็ได้ หรือบางคนไม่อยากรู้จักใคร อยากหลบมุมนั่งอ่าน เรามีพื้นที่อ่านหนังสือแบบไม่มีใครรบกวน มางานนี้แล้ว วันสองวัน อาจจะไม่ได้อยากหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน แต่ถ้าได้ติดไม้ติดมือกลับไป แล้ววันหนึ่งหยิบขึ้นมาอ่าน สำหรับเราถือว่าเป้าหมายเราสำเร็จแล้ว 


กิจกรรม Hatyai Book Club เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี 

29 มิถุนายน 2567 (เสาร์):
13:00-15:00 (ณ ร้าน Lorem Ipsum) – Meet&Read วรรณกรรมและบทสนทนาว่าด้วยรัก กับ วีรพร นิติประภา 
19:00 เป็นต้นไป (ณ ร้าน Lucas.HDY) – จากหมื่นส้อง (กลุ่มคนอ่านหนังสือเดิมในหาดใหญ่) ถึง Hatyai Book Club

30 มิถุนายน 2567 (อาทิตย์):
08:00-17:00 (ณ ศูนย์การศึกษาเพื่อสันติภาพ – จาก รร. มอ. วิทยานุสรณ์ ถนนปุณณกันฑ์ 400 เมตร) – Hatyai Book Club Free Space – พื้นที่เปิดกว้าง เอนกายอ่านหนังสือ แลกเปลี่ยนความคิด พร้อมจับจ่ายหนังสือจากร้านหนังสือในพื้นที่หาดใหญ่-ภาคใต้ และ งานเครื่องปั้นดินเผา เวิร์กช็อปสร้อยลูกปัด พับที่คั่นหนังสือ 

และกิจกรรมอื่นๆ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook – Hatyai Book Club 

เรื่อง: กองบรรณาธิการ (สรุปความจากรายการ ‘สภากาแฟ’)
ภาพ: ขอบคุณเฟซบุ๊ก Hatyai Book Club

อ่านต่อ

หนังสือนิทานต้านหัด หวังลดเด็กตายจากหัดในพื้นที่ชายแดนใต้

กุลธวัช เจริญผล: การ์ตูนเล่มละบาท ภาพบันทึกชีวิต และศิลปะของ ‘คนนอก’

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *