ฤดูร้อนของประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และจะไปสิ้นสุดฤดูร้อนช่วงเดือนพฤษภาคมส่งผลให้มีอากาศร้อนอบอ้าว ร้อนจัดบางแห่ง ในบางวันอุณหภูมิอาจสูงสุดไปจนถึง 42- 43 องศาเซลเซียส ซึ่งจากการพยากรณ์อากาศและสภาพภูมิอากาศทั่วโลกที่แปรปรวนนั้น ทำให้บางพื้นที่ในหลายๆ จังหวัดมีพายุฤดูร้อนอีกด้วย และด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจัดเช่นนี้ เราควรหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายของตนเอง รวมไปถึงคนรอบข้าง จะต้องเตรียมตัวป้องกัน รับมือ และเฝ้าระวังกันอย่างไร
แล้วโรคอันตรายที่มักจะมาในช่วงฤดูร้อนมีอะไรบ้าง?
ฮีทสโตรก (โรคลมแดด)
โรคที่ภาวะร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป ทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ซึ่งส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมอง เช่น การอยู่ท่ามกลางแดดจัดหรือออกกำลังกายในที่ร้อนจัดเป็นเวลานาน หากได้รับการช่วยเหลือไม่ทันท่วงทีอาจถึงแก่ชีวิตได้
อาการ : จะแตกต่างจากการเป็นลมทั่วไป คือ ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัด หิวน้ำ เวียนหัว ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน อาจเกิดอาการช็อคหรือหมดสติ
วิธีป้องกัน : หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนจัด ดื่มน้ำมากๆ สวมใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบาย ไม่รัดแน่นจนเกินไป และไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ไข้หวัดแดด
เกิดจากร่างกายสะสมความร้อนเอาไว้มากจนระบายออกไม่ทัน อันมีปัจจัยทางด้านอากาศและอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงบ่อยเป็นตัวกระตุ้น โดยเฉพาะคนที่ออกไปในที่ที่มีอากาศร้อนและกลับเข้าห้องแอร์บ่อย ๆ ทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน ซึ่งอาจทำให้ล้มป่วยได้ในที่สุด
อาการ : มีไข้ ตัวร้อน ปวดศีรษะมาก ตาแดง แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีน้ำมูก หรืออาจมีน้ำมูกใส ๆ บ้างเล็กน้อยไม่มากอย่างไข้หวัด และไม่มีอาการเจ็บคอ แต่จะเป็นลักษณะปากคอแห้ง แสบคอ รู้สึกขมปาก
วิธีป้องกัน : พยายามอย่าหลบร้อนไปพึ่งแอร์เย็น ๆ โดยทันที เพราะอาจทำให้ร่างกายปรับอุณหภูมิไม่ทันจนเป็นหวัดแดดได้ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก รับประทานอาหารที่มีวิตามินซีสูง ช่วยป้องกันหวัดได้ และควรจิบน้ำบ่อย ๆ ป้องกันภาวะขาดน้ำ
ท้องร่วง
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว ปรสิตและหนอน พยาธิในลำไส้ โดยการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ ค้างคืน มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำไม่สะอาดหรือมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคอุจจาระร่วง
อาการ : มีการถ่ายอุจจาระเหลวผิดปกติ มากกว่า 3 ครั้งติดต่อกัน ใน 1 วัน ถ่ายเหลวเป็นน้ำ หรือเป็นมูกเลือด ซึ่งอาจมีอาเจียนร่วมด้วย
วิธีป้องกัน : รับประทานอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อน ทำความสะอาดวัตถุดิบก่อนปรุงอาหาร และไม่ใช้มีดเขียงสำหรับหั่นอาหารดิบและสุกร่วมกัน
ผิวไหม้
ในช่วงนี้กิจกรรมต่างๆหนีไม่พ้นการปะทะกับแดดที่พร้อมแผดเผาผิวของเราทั้งนั้น นอกจากจะทำให้ผิวของเราหมองคล้ำและไหม้ ยังก่อให้เกิดกระและฝ้าอีกด้วย
อาการ : ปวดแสบ ปวดร้อน และแดง ถึงขั้นผิวลอกเป็นแผ่น ๆ
วิธีป้องกัน : พกร่ม สวมใส่เสื้อผ้า และแว่นกันแดดสำหรับปกป้องผิวและดวงตา ทั้งนี้หมั่นทาครีมกันแดดก่อนออกแดดประมาณครึ่งชั่วโมง ถ้าหากต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน ๆ ก็ควรทาซ้ำทุก 2-4 ชั่วโมงโรคลมแดด เกิดจากร่างกายไม่สามารถเคลียร์หรือขับความร้อนออกจากร่างกายได้ ความร้อนจึงสะสมในร่างกาย ระอุในตัว
และยังมีอีกหลายโรคที่มาพร้อมกับหน้าร้อน ไม่ว่าจะเป็น โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน, โรคอาหารเป็นพิษ, โรคบิด, อหิวาตกโรค, ไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาด, ภาวะขาดน้ำ และ โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ เป็นต้น