ห่างไกล “ไข้เลือดออก” เพียงยึดหลัก 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค

โรคไข้เลือดออกมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสเดงกี่ อาการของโรคนี้มีความคล้ายคลึงกับโรคไข้หวัด ในช่วงแรกถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องโดยเฉพาะในระยะที่มีเลือดออก (ระยะช็อก) อาจส่งผลทำให้เสียชีวิตได้ และวิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออก คือ การป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทั้งภายในบ้าน ชุมชน รวมถึงสถานที่สำคัญต่าง ๆ อีกทั้งสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย

สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ว่า จากรายงานการเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 887 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิต 1 ราย ในจังหวัดยะลา ส่วนจังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือ จังหวัดสงขลา 333 ราย รองลงมา คือ นราธิวาส 181 ราย ปัตตานี 151 ราย ยะลา 105 ราย ตรัง 57 ราย พัทลุง 51 ราย และสตูล 9 ราย

“เมื่อเข้าฤดูฝนจะมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น มีจำนวนยุงลายชุกชุมหนาแน่นขึ้น สิ่งที่ทุกคนทำได้คือการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ดูแลสภาพแวดล้อมทั้งในบ้าน บริเวณบ้าน สิ่งที่สำคัญคือ ห้ามรับประทานยา ไอบรูโปรเฟน หรือแอสไพริน เนื่องจากจะทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่ายขึ้น”

นายแพทย์อิฐถผล เอี้ยววงษ์เจริญ
นายแพทย์ชำนาญการ ฝ่ายควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา

มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”  

  1. เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง
  2. เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหาร หรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
  3. เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่