Family Pharmacist มีเภสัชกรประจำครอบครัวดีอย่างไร ?

เนื่องใน “งานสัปดาห์เภสัชกรรม 2563” ในสถาการณ์ปัจจุบันที่มีข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งการเตรียมงานและเวลา ปีนี้จึงไม่มีการสนับสนุนสื่อจากส่วนกลาง แต่ยังเน้นเนื้อหาเภสัชกรปฐมภูมิ ผู้ป่วย ครอบครัว ชุมชน และเปิดบทบาทเภสัชกรในสถาการณ์ COVID 19 ในประเด็น “ผู้ป่วยครอบครัว ชุมชน มีเภสัชกรอยู่ใกล้ใช้ยาปลอดภัย” , “ทุกครอบครัวสามารถปรึกษาปัญหาการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งในสถานการณ์ COVID19 และอื่น ๆ ได้ที่เภสัชกร”

เภสัชกรประจำครอบครัว (Family Pharmacist) คือเภสัชกรที่ดูแลเรื่องการใช้ยาของผู้ป่วยร่วมกับครอบครัวของผู้ป่วย เพื่อให้เกิดประสิทธิผลและความปลอดภัย โดยครอบคลุมทุกมิติที่มีผลต่อพฤติกรรมการใช้ยา ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม สภาวะทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม  และเป็นหนึ่งในทีมงานของสหสาขาวิชาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ ในการดูแลผู้ป่วยและครอบครัว

ยุคแรกงานเภสัชกรรมเน้นเรื่องผลิตภัณฑ์ หรือ Product ยุคต่อมาก็เน้นเรื่องการดูแลผู้ป่วย เภสัชกรประจำครอบครัว เป็นงานใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นของงานเภสัชกรรม เป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้น เนื่องจากการใช้ยาของผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยใช้ยาแล้วทำไมถึงไม่หายหรือไม่ใช้ยาตามคำสั่งของแพทย์หรือไม่ใช้ตามฉลาก ทำให้ไม่สามารถควบคุมโรคหรืออาการของโรคได้ เมื่อกลับไปอยู่ที่บ้าน หน้าที่ของเภสัชกรครอบครัวจะดูการใช้ยาของผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วยแบบองค์รวม ไม่ได้ดูแลแค่เรื่องยาอย่างเดียว แต่ดูแลสุขภาพทางกาย สุขภาพใจ และสิ่งแวดล้อมของผู้ป่วย โดยเป็นส่วนหนึ่งของทีมสหวิชาชีพที่ลงไปช่วยเหลือและให้คำปรึกษาการใช้ยาที่ถูกต้องให้กับผู้ป่วยถึงชุมชนถึงบ้าน

ภก.ธีระพงศ์ เทพทวี
กรรมการสมาคมศิษย์เก่าคณะเภสัชศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

วัตถุประสงค์ของการมีเภสัชกรประจำครอบครัว คือ การมุ่งพัฒนาให้ผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวมีศักยภาพที่จะพึ่งพาตนเองในการใช้ยาเพื่อบำบัดรักษาหรือประคับประคองอาการเจ็บป่วยได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัว

เภสัชกรประจำครอบครัว (Family Pharmacist) ถือเป็นอีกหนึ่งบทบาทของเภสัชกรที่ดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม ซึ่งครอบคลุมทั้งสภาพร่างกาย สภาพจิตใจ และสภาพสังคมแวดล้อม เพื่อให้การบริบาลทางเภสัชกรรมแบบองค์รวม (Holistic Pharmaceutical Care) โดยอาศัยกิจกรรม “การเยี่ยมบ้าน” ที่มีการจัดการระบบการดูแลติดตามการใช้ยาของผู้ป่วยในชุมชน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ตลอดจนติดตามแก้ไขและสะท้อนปัญหาที่เกิดจากการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมของผู้ป่วย ด้วยความเห็นอกเห็นใจ และด้วยหัวใจของความเป็นเพื่อนมนุษย์ ซึ่งนอกจากเภสัชกรครอบครัวจะให้ความห่วงใยใส่ใจในการใช้ยาของผู้ป่วยแล้ว ยังครอบคลุมถึงการดูแลในระดับครอบครัวและชุมชนอีกด้วย