กระทรวงสาธารณสุข ปรับกลยุทธ์ “รับยา ใกล้บ้าน” เพิ่มรายการโรค รายการยา ให้เหมาะสมกับพื้นที่ สร้างความรอบรู้ประชาชน ลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอยผู้รับบริการในโรงพยาบาล พร้อมปรับปรุงระบบให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยและข้อมูลใบสั่งยาระหว่างโรงพยาบาลและร้านยา จัดระบบการขนส่งยาให้รวดเร็วทันเวลา เพิ่มการเข้าถึงบริการที่ได้มาตรฐานที่ร้านขายยา เพิ่มร้านยาใกล้บ้าน เพื่อความสะดวกของผู้ป่วย รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ป่วยรับทราบ สนใจ และเกิดความเชื่อมั่นในการใช้บริการอีกด้วย
ไปโรงพยาบาลครั้งนึงก็ต้องลางานเป็นวัน ยังมีเรื่องยาที่เหลือจากที่ผู้ป่วยรับยาแล้วไปใช้ที่บ้านแล้วไม่ได้มีการติดตามทำให้ยาเหลือใช้เป็นมูลค่าหลายล้านโดยภาพรวมของประเทศเลยมีโครงการรับยาใกล้บ้านขึ้นมา ผู้ป่วยต้องแจ้งความประสงค์ก่อนว่าต้องการไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านในโครงการ จะมีการตรวจสอบประวัติการใช้ยา ค่าการดูแลร่างกายต่างๆที่ตรวจจากโรงพยาบาลแล้ว การควบคุมโรคควบคุมอาหาร แล้วให้รับยาจากแพทย์จากโรงพยาบาลก่อน หลังจากนั้นจะมีการรับยาครั้งที่สองครั้งที่สามจากร้านยาใกล้บ้าน ส่วนการนัดติดตามอาการของแพทย์ก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม จากการสอบถามความพึงพอใจของคนที่มารับยาในโครงการนี้เกิน 90 เปอร์เซ็นต์ที่บอกเหมือนกันว่า สะดวกในการรับยาและเวลามีปัญหาในการใช้ยาสามารถปรึกษาเภสัชกรได้ทันที
ภญ.ภาชินี เสาร์แก้ว
บ.ฟาร์มาแพล็กซ์ จำกัด และรองประธานชมรมเภสัชกรชุมชน จ.สงขลา
การรับยาที่ร้านขายยา ปัจจุบันมี 3 รูปแบบ ได้แก่
- รูปแบบที่ 1 รพ.จัดยารายบุคคลส่งให้ร้านยา
- รูปแบบที่ 2 รพ.จัดสำรองยาไว้ที่ร้านยา รพ.รับผิดชอบในการจัดซื้อยา และสำรองยาไว้ที่ร้านยา โดยร้านยารับผิดชอบการเตรียมยาและส่งมอบยา
- รูปแบบที่ 3 ร้านยาจัดการด้านยาเอง โดยร้านยาเป็นผู้จัดซื้อยา สำรองยา เตรียมยา จ่ายยา โดยได้รับการชดเชยค่าบริการและค่ายา ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
กรมการแพทย์มีการแจ้งโรงพยาบาล-สถาบันในสังกัด ให้แพทย์แนะนำผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง จิตเวช หอบหืดไปรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้านและจัดยาให้ทานได้นานขึ้น เพื่อลดความถี่ในการเดินทางมาโรงพยาบาล ลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ทั้งนี้การลดจำนวนและความถี่ที่ผู้ป่วยต้องมาโรงพยาบาลจึงเป็นมาตรการหนึ่งที่จะช่วยลดการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ลงได้ กรมการแพทย์จึงขอความร่วมมือแพทย์ทุกท่านที่รับผิดชอบดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคดังกล่าว พิจารณาผู้ป่วยที่มีความเหมาะสมตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยแนะนำให้ไปรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการ รวมถึงพิจารณาเพิ่มจำนวนยาเพื่อให้ผู้ป่วยมียารับประทานได้นานขึ้น ก่อนมาพบแพทย์ครั้งต่อไป