“ขยะ” ฝีมือมนุษย์ สุดวิกฤตมากขึ้นทุกปี

“ขยะ” หรือ สิ่งของเหลือใช้จากชีวิตประจำวันที่รอการกำจัด นับเป็นปัญหาใหญ่ที่ประเทศไทยและทั่วโลกเผชิญกันมานาน และกําลังเป็นวิกฤตในตอนนี้ ทั้งปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นในทุกปี การทิ้งและแยกขยะที่ไม่ถูกต้องจนไม่สามารถนําขยะกลับมาใช้ประโยชน์ซ้ำได้เท่าที่ควร และทำให้การกำจัดขยะอย่างถูกต้องเกิดประสิทธิภาพน้อยลงตามไปด้วย สร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อคนและสัตว์ ขยะเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่คิด และสิ่งที่ง่ายที่สุดคือการคัดแยกขยะจากครัวเรือน นับเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยลดปริมาณขยะ และขยะจะไม่กลายเป็นขยะที่ไร้ค่าหากเราจัดการอย่างถูกวิธี และนำกลับไปใช้ประโยชน์ต่อได้

“ถุงพลาสติก ใช้เวลาย่อยสลาย 450 ปี 
โฟมไม่สามารถย่อยสลายเองตามธรรมชาติได้”

สาเหตุที่ทำให้ขยะเพิ่มขึ้นเป็นเพราะอะไร?

สาเหตุที่ทำให้ขยะมีปริมาณมากขึ้นก็มาจากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่

  • จำนวนประชากรมากขึ้น จำนวนคนมากขึ้นเท่าไร จำนวนขยะก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะขยะเกิดจากสิ่งของที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งมีทั้งส่วนที่เรานำไปใช้ประโยชน์ และส่วนเกินที่ต้องนำไปกำจัดทิ้ง
  • กำจัดขยะผิดวิธี การกำจัดขยะไม่ใช่แค่การทำให้ขยะหายไปจากบ้านของเรา เช่น กองทิ้งบนดินรกร้าง นำไปเผากลางแจ้ง ทิ้งลงสู่ทะเล-แม่น้ำลำคลอง หรือจบแค่การทิ้งลงถังขยะเท่านั้น เพราะนอกจากจะทำให้ขยะเพิ่มขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาแบบไม่รู้จบ
  • การนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ยังมีน้อย แม้ในตอนนี้หลาย ๆ องค์กรจะมีการรณรงค์เรื่องการนำขยะกลับมารีไซเคิล แต่ก็ยังช่วยกำจัดขยะได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

ทุกวันนี้เราใช้พลาสติกและกล่องโฟมกันมากขนาดไหน?

กรมควบคุมมลพิษเผยว่า ประเทศไทยจัดเป็นประเทศในอันดับต้น ๆ ที่เป็นแหล่งสำคัญที่พบขยะพลาสติกในทะเล โดยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีขยะพลาสติกเกิดขึ้นประมาณ 12% ของปริมาณขยะทั้งหมด หรือปีละประมาณ 2 ล้านตัน ซึ่งขยะพลาสติกส่วนใหญ่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Singleuse plastic : SUP) เช่น ถุงร้อน ถุงเย็น ถุงหูหิ้ว แก้วพลาสติก หลอดพลาสติก หรือกล่องโฟมบรรจุอาหาร

จะเห็นได้ว่า ขยะพลาสติกกลุ่มข้างต้นมีอายุการใช้งานสั้น แต่ใช้เวลาในการย่อยสลายนานเป็นร้อย ๆ ปี หากไม่นำขยะพลาสติกกลับไปรีไซเคิล การทำลายขยะพลาสติกด้วยการเผาหรือฝังกลบก็จะส่งผลกระทบในวงกว้าง เริ่มจากสร้างมลพิษให้สิ่งแวดล้อม หรือที่เห็นกันบ่อย ๆ ก็คือ เศษขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งขว้างตามพื้นถนน กลายเป็นขยะที่ไปอุดตันท่อน้ำ หรือเป็นขยะที่ลอยเคว้งอยู่ตามแม่น้ำ ลำคลอง จากนั้นก็ไหลลงสู่ท้องทะเล ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล ห่วงโซ่อาหาร และการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ ของท้องทะเลทั่วโลกอีกด้วย

นอกจากนี้ทั้งโฟมและพลาสติกยังเป็นขยะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น หากทิ้งไม่ถูกที่ก็จะอุดตันท่อระบายน้ำทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง หากเกิดการเผาที่ไม่สมบูรณ์ จะเกิดการปล่อยก๊าซพิษ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโลกร้อน ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและการดำรงชีวิตของพืชและสัตว์ต่างๆ ทำให้เกิดการปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในดินและแหล่งน้ำ