โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ของคณะกรรมาธิการฯ คณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร และคณะทำงาน ในพื้นที่กระบี่ หรือ “กระบี่โมเดล”เป็นโครงการพัฒนาอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้กับเกษตรกรฐานรากตามบริบทของพื้นที่เช่นโครงการพัฒนาผลผลิตปาล์มน้ำมัน โครงการเลี้ยงสาหร่ายขนนก โครงการเลี้ยงแพะในสวนปาล์ม โครงการเพาะเลี้ยงเห็ดร่างแห โครงการพัฒนาผ้าบาติก โดยโครงการเหล่านี้นำองค์ความรู้มาจากงานวิจัยจากสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันการวิจัยต่างๆ ซึ่งได้งบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
“กระบี่โมเดล” มีโครงการวิจัยของคณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.สงขลานครินทร์ 2 เรื่องที่จะนำไปขยายผลพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่คือการส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนนก และการสนับสนุนแพะพันธุ์ทรัพย์-ม.อ.ของศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์เคี้ยวเอื้อง คณะทรัพยากรธรรมชาติ ให้กับเกษตรที่สนใจ 20 ครอบครัว
ผศ.ดร.ไชยวรรณ วัฒนจันทร์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ.เล่าให้ฟังว่าการนำแพะเนื้อพันธุ์ทรัพย์-ม.อ.ไปมอบให้เกษตรกรในจังหวัดกระบี่นั้นเกิดจากความต้องการของเกษตรกรที่อยากเลี้ยงแพะในสวนปาล์มเพื่อเพิ่มรายได้ แรกเริ่มเกษตรกรต้องการแพะตัวใหญ่ที่ต้นทุนอาหารสูงไม่เหมาะสมกับผู้เลี้ยงรายย่อยแต่แพะทรัพย์-ม.อ.ตัวไม่ใหญ่มาก กินอาหารไม่เยอะ เหมาะกับสภาพอากาศของภาคใต้มากกว่า โดยมีเกษตรกรสนใจจะเลี้ยงทั้งหมด 20 ครอบครัว เป็นครอบครัวที่เคยเลี้ยง 12 ครอบครัว อีก 8 ครอบครัวไม่เคยมีประสบการณ์การเลี้ยงแพะมาก่อน หลังจากมอบแพะแล้วต้องมีการอบรมเรื่องการเลี้ยงแพะอีกในอนาคต
แพะพันธุ์ทรัพย์-ม.อ.เป็นแพะที่พัฒนาพันธุ์ให้เหมาะสมกับพื้นที่สภาพแวดล้อมและภูมิอากาศของภาคใต้ โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก ซึ่งมีพันธกิจ ศึกษา วิจัย และค้นคว้าองค์ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงแพะ และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่นักวิชาการ หน่วยงาน และเกษตรกร ศูนย์ฯ ยังผลิตพันธุ์แพะที่ดีและเหมาะสมกับการเลี้ยงในระบบต่างๆ จำหน่ายให้เกษตรกร ปัจจุบันศูนย์ฯ ได้ผลิตแพะลูกผสมระหว่างพันธุ์พื้นเมืองกับพันธุ์ต่างประเทศ ที่เหมาะสมกับการเลี้ยงของเกษตรกรที่มีระบบการจัดการที่ต่างกัน มีทั้งที่มีระดับสายเลือดของแพะจากต่างประเทศสูงซึ่งเหมาะกับเกษตรกรที่มีความรู้และต้องการเลี้ยงแพะเป็นอาชีพหลัก และระดับสายเลือดของแพะพันธุ์จากต่างประเทศต่ำซึ่งเหมาะสมกับเกษตรกรรายย่อยที่ต้องการเลี้ยงแพะเป็นอาชีพเสริม
สนใจเรื่องแพะติดต่อได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็กฝ่ายวิจัยและบริการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ โทรศัพท์: 074-802655