การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีขับเคลื่อนให้โลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมภาคธุรกิจและระบบการเงินไทย ในการสร้างความพร้อมเพื่อปรับตัวเข้าสู่โลกการเงินดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เท่าทัน ทั่วถึง และมั่นคงปลอดภัย ยิ่ง “ชีวิตวิถีใหม่” ในโลกหลังโควิด 19 บริการทางการเงินดิจิทัลจะยิ่งมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและในการดำเนินธุรกิจ
“หัวใจ” ของโครงสร้างพื้นฐานสู่ระบบการเงินดิจิทัล
แผนยุทธศาสตร์ ธปท. ฉบับ พ.ศ. 2563 – 2565 มีการยกประเด็น “ระบบการเงินเข้าสู่โลกการเงินดิจิทัลอย่างรวดเร็ว” เป็นหนึ่งในความท้าทายในการทำงานของ ธปท. ซึ่งช่วงที่ผ่านมา ธปท. ให้ความสำคัญอย่างมากกับการวางโครงสร้างพื้นฐานสู่บริการทางการเงินดิจิทัล ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและศักยภาพของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs
“หัวใจสำคัญที่ ธปท. คำนึงถึงเสมอในการทำ digital transformation มี 2 มิติ คือ (1) การตอบโจทย์ผู้ใช้บริการทุกภาคส่วน ทั้งในแง่การเข้าถึง ความสะดวกรวดเร็ว ต้นทุนที่เหมาะสม และการได้รับบริการที่เป็นธรรม และ (2) ความปลอดภัยของระบบ รวมถึงการดูแลในเรื่องการคุ้มครองทางการเงินให้กับผู้ใช้บริการ”
โครงสร้างพื้นฐานของระบบการเงินดิจิทัลที่ดีควรนำไปสู่ผลลัพธ์ ได้แก่ creativity คือ การพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ inclusivity คือการเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างครอบคลุม และ efficiency คือการเพิ่มประสิทธิภาพและการแข่งขัน นอกจากนี้ ยังต้องมี interoperability หรือการเชื่อมโยงการทำธุรกรรมระหว่างผู้ให้บริการในระบบ เพื่อเอื้อให้เกิดการพัฒนาบริการที่ต่อยอดจากโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว
ตัวอย่างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในระบบการเงินดิจิทัลของไทย อย่างระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment) ที่คนไทยคุ้นเคยอย่างพร้อมเพย์ (PromptPay) และ Standard Thai QR Code ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ธปท. หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน มาตั้งแต่ 4 – 5 ปีก่อน โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ยิ่งตอกย้ำความจำเป็นของระบบ e-payment เห็นได้จากปริมาณธุรกรรม ณ เดือนพฤษภาคม 2564 ที่เพิ่มเป็น 243 ครั้งต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้น 80% จากปี 2562 ที่มีปริมาณการใช้งาน 135 ครั้งต่อคนต่อปี ซึ่งเป็นผลจากการซื้อขายออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ การชำระเงินด้วย QR code เพื่อลดการสัมผัสเชื้อโรค และการส่งผ่านความช่วยเหลือทางการเงินของภาครัฐผ่านระบบพร้อมเพย์ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้ e-payment ได้อย่างตอบโจทย์และเท่าทันสถานการณ์
Digital Transformation ยกระดับการเข้าถึงสินเชื่อ
“หลังโควิด 19 เทคโนโลยีดิจิทัลต้องตอบโจทย์ที่ต่อยอดไปมากกว่าเรื่อง e-payment นั่นคือ จะทำอย่างไรให้ผู้ที่ยังไม่เข้าถึงบริการทางการเงินพื้นฐานสามารถเข้าถึงบริการเหล่านั้นได้มากขึ้น อีกกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการด้านสินเชื่อคือกลุ่มธุรกิจ SMEs ซึ่งถ้าสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ง่ายขึ้น ก็จะมีส่วนช่วยทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น”
ที่ผ่านมา ธปท. ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับบริการด้านสินเชื่อ ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการให้บริการ ตั้งแต่การขอสินเชื่อ การประเมินความเสี่ยงและความสามารถในการชำระหนี้ ไปจนถึงการอนุมัติสินเชื่อ โดยใช้ “ข้อมูลทางเลือก (alternative data)” เช่น ข้อมูลประวัติการชำระค่าโทรศัพท์มือถือและสาธารณูปโภค ข้อมูลการซื้อขายสินค้าออนไลน์ หรือใช้ข้อมูลหลายประเภทในการพิจารณาสินเชื่อ แทนการใช้เอกสารหลักฐานรายได้หรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบของผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับกลุ่มธุรกิจ SMEs และกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่ไม่มีรายได้ประจำไม่สามารถพิสูจน์รายได้ และไม่มีทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกัน เป็นต้น
“เราหวังว่าการใช้ข้อมูลทางเลือกจะช่วยให้ผู้กู้ได้รับวงเงินสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของผู้กู้แต่ละราย และที่สำคัญคือเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนในระบบของผู้ใช้บริการ ซึ่งน่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางโอกาสให้กับธุรกิจรายย่อยและคนตัวเล็กในสังคมได้บ้าง ไม่มากก็น้อย”
การนำข้อมูลทางเลือกมาใช้ เป็นการสร้าง “ข้อมูลรอยเท้าดิจิทัล (digital footprint)” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญเพื่อต่อยอดไปสู่บริการทางการเงินดิจิทัลที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคแต่ละรายให้ดียิ่งขึ้น และยังช่วยให้ผู้กู้สามารถติดตามพฤติกรรมและวินัยทางการเงินของผู้กู้ได้ แต่ทั้งนี้ การใช้ข้อมูลทางเลือกต้องระวังเพื่อไม่ให้เกิดการใช้ข้อมูลผิดรูปแบบ หรือเกิดความลำเอียงของข้อมูลที่นำไปใช้ และต้องคำนึงถึงสิทธิการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล รวมถึงการทำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าการใช้ข้อมูลเหล่านั้นเป็นไปเพื่อบริการที่ปลอดภัยและเป็นประโยชน์กับตนอย่างแท้จริง
ข้อมูล:ธนาคารแห่งประเทศไทย