4 ภารกิจสำรวจดาวเคราะห์น้อยของ NASA ที่น่าติดตาม

4 ภารกิจสำรวจดาวเคราะห์น้อยของ NASA ที่น่าติดตามในขณะนี้ปัจจุบันมียานสำรวจระบบสุริยะถูกส่งไปสู่ห้วงอวกาศมากมายหลายภารกิจ เนื่องจากการสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์บนพื้นโลกยังไม่เพียงพอต่อการศึกษา และหนึ่งในภารกิจที่น่าสนใจนั้นคือการสำรวจและศึกษาดาวเคราะห์น้อย

ทำไมต้องไปสำรวจดาวเคราะห์น้อย?

ดาวเคราะห์น้อย (Asteroids) คือ วัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะ มีวงโคจรส่วนใหญ่อยู่ระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี และมีลักษณะทางกายภาพที่หลากหลาย เป็นเศษซากจากการก่อตัวของดาวเคราะห์ในยุคเริ่มแรก การศึกษาดาวเคราะห์น้อยจึงเสมือนเป็นแหล่งศึกษาฟอสซิลของระบบสุริยะ ซึ่งอาจเป็นแหล่งกำเนิดของน้ำและสารประกอบอินทรีย์ในการให้กำเนิดสิ่งมีชีวิต และอาจเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญที่มีประโยชน์กับมนุษยชาติในอนาคต รวมถึงการเตือนและป้องกันภัยจากดาวเคราะห์น้อยที่อาจก่อความเสียหายแก่โลกในอนาคต.สำหรับภารกิจสำรวจและศึกษาดาวเคราะห์น้อยของ NASA ก็มีหลากหลายภารกิจที่มีเป้าหมายและอุปกรณ์เฉพาะทางที่แตกต่างกันออกไป ทั้งที่ถูกส่งไปแล้วและกำลังจะถูกส่งไปในอนาคต ซึ่งภารกิจของยานอวกาศที่น่าสนใจและน่าติดตาม ได้แก่

  • ยานโอไซริส-เร็กซ์ (OSIRIS-Rex) เป็นภารกิจเก็บตัวอย่างดินและเศษหินจากดาวเคราะห์น้อยเบนนู เพื่อนำกลับมาศึกษาต่อยังโลก เป็นภารกิจสำรวจดาวเคราะห์น้อยภารกิจแรก ๆ ของ NASA ที่ส่งขึ้นสู่อวกาศตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2559 ปัจจุบันยานสามารถเก็บตัวอย่างได้สำเร็จแล้ว และอยู่ในช่วงเดินทางกลับมายังโลก ซึ่งจะเดินทางถึงโลกประมาณวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2566.ทั้งนี้ตัวอักษร “O” ในชื่อของ OSIRIS-Rex มาจากคำว่า Origins ที่ต้องการสื่อถึงการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการก่อตัวของระบบสุริยะ รวมถึงต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิตบนโลก ซึ่งการศึกษาตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยเบนนู จะช่วยไขปริศนาทางชีวดาราศาสตร์ (Astrobiology) เกี่ยวกับการศึกษาประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ของระบบสุริยะ จากดาวเคราะห์น้อยที่มีองค์ประกอบหลักเป็นคาร์บอน ซึ่งอาจมีสารประกอบอินทรีย์แบบเดียวกับองค์ประกอบตั้งต้นของสิ่งมีชีวิตบนโลก แม้ว่าจะศึกษาได้จากอุกกาบาตที่ตกลงที่ยังพื้นโลก แต่การศึกษาตัวอย่างของดาวเคราะห์น้อยที่ไม่ผ่านการเสียดโดยตรงกับชั้นบรรยากาศโลกจะให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนและแม่นยำยิ่งกว่า
  • ยานดาร์ท (DART) หรือ Double Asteroid Redirection Test เป็นภารกิจทดสอบการป้องกันดาวเคราะห์น้อยชนโลก และเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์การป้องกันดาวเคราะห์ของสำนักงานประสานงานการป้องกันดาวเคราะห์ (PDCO) ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 มีเป้าหมายหลักคือการพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอส (Dimorphos) ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 160 เมตร เพื่อศึกษาวิธีการเบี่ยงวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยด้วยการพุ่งชน คาดว่าจะเดินทางถึงดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอสในเดือนกันยายน พ.ศ. 2565
  • ยานลูซี (LUCY) ขึ้นสู่อวกาศเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา มีภารกิจที่แตกต่างจากภารกิจอื่น ๆ นั่นคือการสำรวจดาวเคราะห์น้อย “กลุ่มโทรจัน” (Trojans) ที่มีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ซ้อนทับกับวงโคจรของดาวพฤหัสบดี จะใช้เวลาสำรวจทั้งสิ้น 12 ปี เพื่อสำรวจดาวเคราะห์น้อยกลุ่มโทรจันจำนวน 7 ดวง และดาวเคราะห์น้อยกลุ่มแถบดาวเคราะห์น้อยหลักอีก 1 ดวง โดยยานลูซีติดตั้งเครื่องมือสำหรับวิเคราะห์สีและองค์ประกอบพื้นผิว รวมถึงมวลรวมและลักษณะทางกาพทั่วไปของดาวเคราะห์น้อย เนื่องจากนักดาราศาสตร์เชื่อว่าองค์ประกอบของดาวเคราะห์กลุ่มโทรจันน่าจะมีธาตุองค์ประกอบเดียวกันกับดาวเคราะห์ชั้นนอกในยุคแรกเริ่ม.ยาน “ลูซี (Lucy)” ตั้งชื่อตามโครงกระดูกฟอสซิลที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถทำความเข้าใจถึงวิวัฒนาการและจุดกำเนิดของมนุษย์ ขณะที่ยานลูซีจะสำรวจดาวเคราะห์น้อยในกลุ่มโทรจัน เพื่อศึกษาถึงวิวัฒนาการและจุดกำเนิดของระบบสุริยะ
  • ยานไซคี (PSYCHE) เป็นภารกิจศึกษาดาวเคราะห์น้อย ไซคี 16 (Psyche 16) มีวงโคจรอยู่ระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี ซึ่งนักดาราศาสตร์คาดว่าดาวเคราะห์น้อย Psyche 16 มีองค์ประกอบหลักเป็นเหล็กและนิกเกิล คล้ายกับแกนของโลก และอาจเป็นองค์ประกอบหลักของการก่อตัวดาวเคราะห์ในยุคแรก ที่สูญเสียเปลือกชั้นนอกไป NASA วางแผนไว้ว่าจะส่งยานไซคีขึ้นสู่อวกาศในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 โดยจะติดตั้งเครื่องมือสำหรับการศึกษองค์ประกอบพื้นผิวและประเมินอายุของโลหะ เพื่อพิสูจน์ว่าดาวเคราะห์น้อยไซคีเคยเป็นแกนกลางของดาวเคราะห์ในยุคเริ่มแรกหรือไม่ และคาดว่าจะเดินทางถึงดาวเคราะห์น้อยไซคีในเดือนมกราคม พ.ศ. 2569.การศึกษาดาวเคราะห์น้อยนำมาซึ่งข้อมูลที่ช่วยพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างมากในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา และการส่งเทคโนโลยีอวกาศไปศึกษาเคราะห์น้อยอย่างใกล้ชิด ก็เป็นหนึ่งในความท้าทายสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ของระบบสุริยะ การป้องกันตัวเองจากอันตรายจากวัตถุในห้วงอวกาศ รวมถึงการค้นหาวัตถุที่อาจมีบทบาทกับมนุษย์ในอนาคต

ข้อมูล : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

อ้างอิง : – https://www.nasa.gov/…/nasa-s-big-plans-to-explore…- https://www.nasa.gov/…/osiris-rex-mission-status-updatehttps://www.nasa.gov/…/nasa-invites-public-to-share…- https://blogs.nasa.gov/lucy/https://www.nasa.gov/…/artists-concept-of-psyche

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *